คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2748/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าเงินเดือน ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน ฯลฯ หมายความรวมถึง…..เงินอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เบิกจ่ายในลักษณะเงินเดือนและคำว่าเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพ ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการ เกี่ยวกับเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพชั่วคราวพ.ศ.2521 มาตรา 4 หมายความถึงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวที่จ่ายช่วยเหลือข้าราชการหรือ ลูกจ้างตามภาวะเศรษฐกิจ และตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มาตรา 7 ให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน ฯลฯ มาใช้บังคับในการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพโดยอนุโลม ดังนั้นเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพก็คือเงิน อื่นที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เบิกจ่ายแก่ข้าราชการหรือลูกจ้างในลักษณะเงินเดือนจึงเป็นเงินเดือนตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) ไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์ และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองตามคำขอของโจทก์ ต่อมาโจทก์ร้องว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สิน คงมีแต่จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นเสมียนพนักงานกองค่าจ้าง กรมบัญชีกลางได้รับเงินเดือน 1,500 บาท และเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพอีกเดือนละ 200 บาท โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะได้รับทุกเดือนนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์จนครบ เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งว่าอายัดไม่ได้ เพราะเงินดังกล่าวไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(1) โจทก์เห็นว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบ ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพของจำเลยที่ 1 เดือนละ 200 บาท

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าคำว่าเงินเดือนนั้นตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2505 มาตรา 4 หมายความรวมถึงเงินเพิ่มค่าวิชา เงินเพิ่มสำหรับการสู้รบ เงินเพิ่มประจำตำแหน่งที่ต้องฝ่าอันตรายเป็นปกติ เงินเพิ่มผู้ปกครองโรงเรียนตำรวจ เงินยังชีพข้าราชการบางจังหวัดในภาคใต้และเงินอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เบิกจ่ายในลักษณะเงินเดือน ดังนั้นเงินเดือนจึงหมายรวมถึงเงินอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เบิกจ่ายในลักษณะเงินเดือนด้วย และคำว่าเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพหรือ พ.ช.ค.นั้น ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวพ.ศ. 2521 มาตรา 4 หมายความถึงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวที่จ่ายช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างตามภาวะเศรษฐกิจ และตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาตรา 7 ให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกันหรือระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการแล้วแต่กรณีมาใช้บังคับในการจ่ายเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพโดยอนุโลม ดังนั้น เงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพก็คือเงินอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เบิกจ่ายแก่ข้าราชการและลูกจ้างในลักษณะเงินเดือน เงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพจึงเป็นเงินเดือนตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) จึงไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share