แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองหลอกลวงว่าเด็กชาย ว. บุตรของตน เทพให้มาเกิดได้รับยกย่อง ว่าเป็นอาจารย์น้อย เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ รักษาโรคต่าง ๆได้ประชาชนที่ไปรับการรักษาต้องนำเงิน 12 บาทพร้อมด้วยดอกไม้ธูป เทียนใส่จานไปยื่นให้จำเลย โดยนำไปวางไว้ที่ขันน้ำจำนวน 6 ใบแล้วจำเลยที่ 1 จะจุดเทียนหยด น้ำตา เทียนในขันและบอกว่าน้ำดังกล่าวเป็นน้ำมนต์ใช้รักษาโรคได้ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 คอยช่วย ตัก น้ำเพื่อใช้ทำน้ำมนต์ จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้หยิบเอาดอกไม้ธูป เทียนและเงิน 12 บาทไป การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่สายตา ประชาชนและเป็นการร่วมกันโดยทุจริตโดยกระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง มีความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 343.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,341,343 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินให้แก่ประชาชนที่ถูกหลอกลวงคนละ 12 บาทรวมทั้งสิ้น 3,000 บาทถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 จำคุกคนละ 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา คงจำคุกคนละแปดเดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ประชาชนที่ถูกหลอกลวงคนละ 12 บาท รวมเป็นเงิน 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ถึงเหตุที่เกิดข่าวเล่าลือในเรื่องนี้ แต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า มีประชาชนจำนวนมากเชื่อตามข่าวเล่าลือแล้วมารับการรักษาโรคโดยอาศัยน้ำมนต์ของเด็กชายวุ่นหรืออาจารย์น้อย ถึงขนาดมีการนำไม้กั้นเก็บค่าผ่านทางที่รถยนต์จะผ่านเข้าไปด้วยเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยโจทก์มีนายสถารัฐ สุขสมบูรณ์ เบิกความว่าวันที่ 26 เมษายน 2527 ไปพบชายหญิงชรา 2 คนอยู่ในบ้านจำเลยทั้งสอง บอกกับตนว่าเป็นชาวอำเภอหล่มสักมารักษาตาที่มองไม่เห็นแล้วสามารถมองเห็นได้ จำเลยที่ 1 ยังบอกกับนายสถารัฐว่าบุตรของตนเทพให้มาเกิด ทั้งว่าเอาปัสสาวะของเด็กชายวุ่นหรืออาจารย์น้อยหยดใส่ตาชายหญิงชรา 2 คนดังกล่าว แล้วก็หายตาบอดพร้อมทั้งชี้ไปยังคนดังกล่าวด้วย ร้อยตำรวจตรีสุชาติ สุขสมบูรณ์ เบิกความถึงเรื่องที่ชาวบ้านบอกแก่ตนว่า จำเลยทั้งสองแจ้งว่ามีผู้มารับการรักษาหายจากโรคไปแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนตอนทำพิธีนายสถารัฐและร้อยตำรวจตรีสุชาติต่างเบิกความต้องคำกันฟังได้ว่า ประชาชนที่ไปรับการรักษาต้องนำเงิน12 บาทพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนใส่จานไปยื่นให้จำเลย โดยนำไปวางไว้ที่ขันน้ำจำนวน 6 ใบ ที่วางอยู่หน้ากระถางธูป จากนั้นจำเลยที่ 1จะจุดเทียนหยดน้ำตาเทียนลงในขัน บอกว่าน้ำดังกล่าวเป็นน้ำมนต์ใช้รักษาโรคได้ให้ประชาชนเอาใส่ภาชนะอื่นไป มีจำเลยที่ 2 นั่งอยู่ข้างจำเลยที่ 1 คอยช่วยตักน้ำเพื่อใช้ทำน้ำมนต์จำเลยที่ 1 จะหยิบเอาดอกไม้ธูปเทียนและเงิน 12 บาท แล้วส่งจานเปล่าคืนให้คนต่อไปปฏิบัติเช่นคนแรก ๆ เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองจัดเตรียมกระถางธูปขัน 6 ใบสำหรับทำน้ำมนต์มาตั้งไว้และทำน้ำมนต์โดยกล่าวเสริมว่าน้ำมนต์นี้ใช้รักษาโรคได้แล้วเก็บเงินค่าครูรวมทั้งดอกไม้ธูปเทียนไว้ และในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองก็ให้การยอมรับมีใจความอย่างเดียวกันนั้น โดยจำเลยที่ 1 ว่าเป็นการเล่าเรื่องตามความจริงที่เป็นมาซึ่งตามความเป็นจริงย่อมเป็นที่รู้กันทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองว่าน้ำมนต์ไม่ใช่ยารักษาโรค แต่จำเลยทั้งสองกลับกล่าวอวดอ้างว่าเด็กชายวุ่นซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นอาจารย์น้อยเป็นคนมีบุญ เพราะเทพให้มาเกิดทำนองว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำมนต์เป็นของศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ทั้งมีการจัดอุปกรณ์ดังกล่าวและทำน้ำมนต์ให้ปรากฏแก่สายตาประชาชน อันล้วนแต่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั้งสิ้น จึงเป็นการร่วมกันทุจริตโดยกระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าประชาชนมารับการรักษาและให้เงินแก่เด็กชายวุ่นหรืออาจารย์น้อยเพื่อเป็นค่านมและค่าอาหารโดยจำเลยมิได้กำหนดหรือเรียกร้องนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 โดยไม่ระบุวรรคใดนั้น เห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.