แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ น. ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารที่ร่วมรับคนโดยสารในกิจการของจำเลยได้ โจทก์ไปขอสุราต่างประเทศจาก น. ถึงที่พักในเวลา 23 นาฬิกาเศษ ครั้นเมื่อ น. ไม่มีสุราต่างประเทศตามต้องการโจทก์ก็ยอมรับเอาเงินจำนวน 200 บาทจาก น. พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ของตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการประพฤติชั่วตามข้อบังคับว่าด้วยวินัยฯ ของจำเลย ข้อ 4.13 ที่กำหนดว่า”พนักงานต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว เช่นประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้หมกมุ่น ในการพนันกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใดซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ของตำแหน่งหน้าที่ของตน” ย่อมเป็นเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การกระทำความผิดวินัยตามข้อ 4.13 จำเลยกำหนดให้ลงโทษด้วยการให้ออก โดยกำหนดไว้ในข้อ 9 ของข้อบังคับว่า การลงโทษให้ออกนั้นให้กระทำในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัยอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การไม่ถึงร้ายแรง และได้รับการเตือนเป็นหนังสือแล้วเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์มาก่อนและกรณีไม่ต้องด้วยข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับ โดยประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นเรื่องโจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาย 74 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ 479/2531ไล่โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 479/2531 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า เหตุที่มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 เวลาประมาณ 23.30 นาฬิกา โจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้ควบคุมดูแลรถยนต์โดยสารสาย 74 และเป็นผู้ที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่เจ้าของรถร่วมบริการได้ขึ้นไปที่ห้องพักของนางเนื้อทองเจ้าของรถร่วมบริการ (มินิบัส) ด้วยอาการมึนเมาและแต่งเครื่องแบบของจำเลย โจทก์ได้ขอสุราต่างประเทศจากนางเนื้อทอง ด้วยความกลัว นางเนื้อทองจึงยินยอม แต่เนื่องจากไม่มีสุราต่างประเทศจึงได้เปลี่ยนเป็นเงินจำนวน 200 บาทให้โจทก์รับไป การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับ จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 479/2531ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้กระทำผิดวินัยตามข้อ 4.13 แห่งข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 46 ว่าด้วยวินัย การสอบสวน การลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงาน พ.ศ. 2524 อีกด้วยนั้น พิเคราะห์แล้ว ตามข้อ4 และข้อ 4.13 แห่งข้อบังคับของจำเลยฉบับดังกล่าว ซึ่งจำเลยอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเขตการเดินรถที่ 10 ที่ 479/2531 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2531 มีข้อความว่า
“ข้อ 4 พนักงานต้องรักษาวินัยตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ฯลฯ
ข้อ 4.13 ต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วเช่น ประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้หมกมุ่นในการพนัน กระทำหรือยอมให้ผู้อื่น กระทำการอื่นใดซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน” พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาย 74แผนกเดินรถ กองเดินรถที่ 1 เขตการเดินรถที่ 10 เมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2531 เวลา 23 นาฬิกาเศษ โจทก์ได้ไปที่แฟลตของนางเนื้อทอภรรยาของจ่าสิบตำรวจขวัญเมือง และได้รับเงินจากนางเนื้อทอง 200บาท เพื่อซื้อสุราต่างประเทศดื่ม เนื่องจากนางเนื้อทองไม่มีสุราต่างประเทศที่โจทก์ต้องการ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งที่สามารถให้คุณให้โทษแก่นางเนื้อทองผู้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารที่ร่วมรับคนโดยสารในกิจการของจำเลยได้ และโจทก์ได้ไปขอสุราต่างประเทศจากนางเนื้อทองถึงที่พักในเวลา 23 นาฬิกาเศษ ครั้นเมื่อนางเนื้อทองไม่มีสุราต่างประเทสตามความต้องการของโจทก์ โจทก์ก็ยังยอมรับเอาเงินจำนวน 200 บาท ไปเช่นนี้ ย่อมเป็นการกระทำที่โจทก์ไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าเป็นสิ่งที่โจทก์ได้กระทำและได้รับเงินมาโดยชอบอันปราศจากข้ออันพึงถูกตำหนิติเตียนจากบุคคลอื่นหรือนางเนื้อทองกับจ่าสิบตำรวจขวัญเมือง พฤติการณ์ของโจทก์จึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการประพฤติชั่วตามข้อ 4.13 ตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว และเป็นเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างดจทก์ได้โดยชอบการเลิกจ้างของจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังโจทก์ฟ้อง แต่การเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์กระทำความผิดวินัยตามข้อ 4.13 แห่งข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นกรณีที่ต้องด้วยข้อ 9.8 ซึ่งมีโทษตามข้อ 9 ที่กำหนดว่า การลงโทให้ออกนั้น ให้กระทำในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัย อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การไม่ถึงร้ายแรง และได้รับการเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดไว้โดยเฉพาะ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์มาก่อนและกรณีไม่ต้องด้วยข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย
ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อ 9.8 คือประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ กรณีจึงเป็นเรื่องโจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยผู้เป็นนายจ้างตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอให้เพิกถอนคำสั่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เขตการเดินรถที่ 10 ที่ 479/2531 และคำขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.