คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 910/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับเงิน 1,200 บาท เท่าราคานาที่จำเลยซื้อจากแม่ยายโจทก์โดยสัญญาจะขายนานั้นคืนให้โจทก์ แต่มีข้อสัญญาด้วยว่า ถ้าจำเลยซื้อนาได้ใหม่ในราคาพอสมควรจำเลยจะไปโอนให้ข้อสัญญานี้เป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ไม่ใช่เงื่อนเวลา ต่อมา 3 ปี จำเลยซื้อนาได้ไร่ละ1,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทำโดยไม่สุจริตดังนี้การมิได้เป็นไปตามเงื่อนไข สัญญาจึงไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 913 ตำบลทุ่งครู อำเภอราษฎร์บูรณะจังหวัดธนบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 88 วา

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2489 ประมาณ 6 ปีมาแล้ว จำเลยที่ 1 ผู้สามีได้รับเงินจากโจทก์ 1,200 บาท เพื่อโอนขายนารายพิพาทนี้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 รู้เห็นด้วย แต่มีสัญญากันว่า จำเลยจะต้องซื้อที่ดินใหม่ในราคาพอสมควรจึงจะโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แล้วจำเลยก็หน่วงเหนี่ยวรั้งรออยู่จนที่ดินราคาสูงจึงได้ซื้อ และยกเป็นเหตุอ้างเอาข้าวจากโจทก์สองคราว ๆ ละ100 ถัง โจทก์เตือนให้โอนที่ดินจำเลยก็ไม่โอน เวลานี้ราคาที่พิพาทขึ้นถึง12,000 บาทแล้ว จำเลยกลับบอกขายให้ผู้อื่น จึงต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์นาพิพาทให้แก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งว่า สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 เพราะมีเงื่อนไขซึ่งสุดแล้วแต่ใจของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ โจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาเพราะเมื่อจำเลยซื้อนาได้ใหม่ราคาพอสมควรแล้ว แจ้งให้โจทก์ชำระราคาที่รายพิพาทตามราคานั้น โจทก์ยอมให้ริบเงินมัดจำ 1,200 บาทนั้นแล้วโจทก์เช่านาพิพาทของจำเลยทำ โจทก์จะว่าซื้อนาพิพาทราคาไร่ละ 100 บาท นั้นเป็นพ้นวิสัย อีกประการหนึ่งนาพิพาทมี 2 เจ้าของแต่จำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมการรับเงินมัดจำ 1,200 บาทด้วยเลยจำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้บังคับขับไล่โจทก์ออกจากที่รายพิพาท

ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้จำเลยโอนนาพิพาทแก่โจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วตามรูปคดีได้ความว่า สัญญานี้เป็นสัญญาจะซื้อขายที่สามีไปทำโดยลำพังจึงย่อมไม่ผูกพันภรรยา และอย่างไรก็ดีสัญญานี้ก็เป็นสัญญามีเงื่อนไข ซึ่งแล้วแต่น้ำใจของจำเลยผู้มีหน้าที่ปฏิบัติ รูปคดีต้องตามบทบัญญัติมาตรา 152 นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับคดีตามฟ้องแย้งของจำเลย ให้ขับไล่โจทก์ห้ามไม่ให้เข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 2 ศาล และค่าทนาย 500 บาท แทนจำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ และตรวจปรึกษาสำนวนนี้แล้วปรากฏว่านายผ่องโจทก์ตายระหว่างฎีกา นางพริ้งภรรยาขอรับมรดกความศาลอนุญาตแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่านางเสงี่ยมแม่ยายโจทก์เป็นญาติกับจำเลยที่ 1 ที่ดินซึ่งเดิมเป็นของนางเสงี่ยมได้โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยรวม 3 แปลง ทั้งแปลงรายพิพาทนี้ จำเลยขายคืนให้นายเพี้ยมพี่ภรรยาโจทก์ไปแล้ว 1 แปลงเป็นราคาไร่ละ 100 บาท เฉพาะแปลงรายพิพาทนี้เป็นที่นามีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2489 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากันไว้ 1 ฉบับความว่า “ฉันนายผ่องนางพริ้ง ไหสุภา อายุ 45 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ 219 หมู่ 13 ตำบลช่องนนทรี จังหวัดพระนคร ได้นำเงินจำนวน 1,200 บาท(หนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน) มาให้ไว้กับ นายชื้น นางเล็ก เติมบุญเพื่อขอซื้อนาคืนตามหมายเลขโฉนดที่ 913 เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 88 วา

(1) ในการทำนาปีต่อไปทุกปี นายผ่อง นางพริ้ง ไหสุภา ไม่ต้องให้ค่าเช่ากับนายชื้นและนางเล็ก เติมบุญ

(2) ในส่วนเรื่องเสียเงินค่าบำรุงท้องที่ นายผ่อง นางพริ้งไหสุภา เป็นผู้เสียเอง

(3) ถ้านายชื้นนางเล็กหาซื้อได้ราคาพอสมควรจะไปหักโอนให้

(4) ในจำนวนเงิน 1,200 บาท นายผ่อง นางพริ้ง ไหสุภา ไม่คิดดอกเบี้ยจากนายชื้น นางเล็ก เติมบุญ

(5) ถ้านายชื้นนางเล็ก เติมบุญ ยังหาซื้อไม่ได้ ก็ยังไม่หักโอนให้กับนายผ่อง นางพริ้ง ไหสุภา

ทันใดนี้ผู้เขียนสัญญาได้อ่านข้อสัญญาให้เจ้าของเงิน และเจ้าของนาเข้าใจโดยละเอียดตลอดทุกข้อแล้ว เพื่อเป็นหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ

ลงลายมือชื่อ นายผ่อง ไหสุภา ผู้ขอซื้อคืน

ลงลายมือชื่อ นายชื้น เติมบุญ ผู้จะขายให้

ลงลายมือชื่อ นายสงวน ชูจันทร์ พยาน

ลงลายมือชื่อ นายแม้น ฝอยทอง พยาน

ลงลายมือชื่อ ประสงค์ เติมบุญ พยาน ผู้เขียน” โจทก์ได้เข้าทำนารายพิพาท ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งเวลานี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2491 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 1628 เนื้อที่ 21 ไร่เศษ อยู่ตำบลเดียวกับที่รายพิพาทจากนายพุก วิมุกตลบ เป็นราคา 20,000 บาท โจทก์ได้ให้ข้าวเปลือกที่ทำได้ในปี พ.ศ. 2492 และพ.ศ. 2493 แก่จำเลยปีละ 100 ถัง พอวันที่ 10 มกราคม 2495 โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้

ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยขายที่ดินคืนให้แก่นายเฟี้ยม โจทก์กับนางพริ้งภรรยาจึงไปหาจำเลยทั้ง 2 ขอซื้อคืนที่รายพิพาทบ้าง จำเลยทั้ง 2 ตกลงยอมขายให้ในราคา 1,200 บาทแล้ววันหลังจึงได้ทำสัญญากันต่อหน้าจำเลยที่ 2 จำเลยไม่เคยมาบอกโจทก์เรื่องซื้อนาใหม่ได้ โจทก์เคยบอกให้จำเลยโอนนาให้ จำเลยว่าจะโอนให้ แต่ขอข้าว 100 ถัง 1 ปี โดยขอความช่วยเหลือในข้อที่จำเลยซื้อนาใหม่แล้วจะโอนให้ โจทก์ยอม ครบ 1 ปี จำเลยไม่โอนให้บอกว่าซื้อนาใหม่แพง ขอช่วยอีก 1 ปี 100 ถัง โจทก์อยากได้ที่นาก็ยอมให้ไปอีกพอครบปีจำเลยก็ไม่โอนนาให้และบอกขายนาเสีย โจทก์จึงมาฟ้อง

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า โจทก์กับนางพริ้งภรรยาเคยมาอ้อนวอนขอซื้อที่รายพิพาทตามราคาที่จำเลยซื้อมาถึง 3 ครั้ง จำเลยไม่ยอมขายเพราะจะเอาไว้ทำกิน ผลที่สุดโจทก์นำเงิน 1,200 บาท มาวางเพื่อขอทำนารายพิพาท ให้จำเลยใช้เงิน 1,200 บาท หาประโยชน์โดยโจทก์ไม่ต้องเสียค่าเช่า ค่าภาษีที่ดินโจทก์เป็นผู้เสีย จำเลยที่ 1 ได้พูดกับโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 หาซื้อที่ดินใหม่ได้ในราคาพอสมควร จำเลยที่ 1 ก็จะขายที่รายพิพาทให้โจทก์ในราคาที่จำเลยที่ 1 ซื้อใหม่ ราคาพอสมควรนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนด ถ้าซื้อที่ดินใหม่ไม่ได้ก็ไม่ขายให้ เวลานั้นจำเลยที่ 2 นอนอยู่อีกห้องหนึ่งต่างหากไม่รู้เห็นด้วยขณะทำสัญญากันที่รายพิพาทมีราคาไร่ละ 500 บาทเป็นอย่างต่ำ ครั้นจำเลยซื้อที่ใหม่ได้จึงไปบอกให้โจทก์ซื้อที่รายพิพาทราคาไร่ละ 1,000 บาท ตามราคาที่ดินที่จำเลยซื้อไว้ โจทก์บอกว่าไม่เอาเพราะไม่มีเงิน จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาจะริบเงินโจทก์ไม่ว่ากระไร โจทก์ได้ขอเช่าให้ค่าเช่า 100 ถัง ต่อปี จำเลยยอม จำเลยที่ 1 ขอหนังสือสัญญาคืน โจทก์ว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวเขาแล้วจะเอามาให้ การเก็บค่าเช่านานั้นเก็บตามปีกัน เช่นทำนาปีพ.ศ. 2493 เก็บปี พ.ศ. 2494จำเลยยังไม่ทันเก็บค่าเช่าปี พ.ศ. 2494 โจทก์ก็มาฟ้องโดยไม่บอกกล่าวให้จำเลยทราบ

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์หลักฐานคำพยานทั้ง 2 ฝ่ายตลอดแล้ว เห็นว่าควรปรับข้อเท็จจริงเสียก่อน เพราะคู่ความโต้เถียงกันอยู่ว่าจำเลยยอมขายที่รายพิพาททั้งหมดให้แก่โจทก์ในราคา 1,200 บาทหรือในราคาที่ดินที่จำเลยซื้อได้ใหม่และโจทก์ให้ข้าวเปลือกแก่จำเลยปีละ 100 ถังนั้นเป็นค่าเช่าหรือโจทก์ให้แก่จำเลยเพื่อซื้อความรำคาญเป็นที่รับกันว่าเรื่องซื้อขายที่รายพิพาทนี้ได้พูดกันก่อนวันทำสัญญาซึ่งโจทก์ว่าจำเลยทั้ง 2 ตกลงขายให้ จำเลยที่ 1 ว่าไม่ยอมขายฝ่ายจำเลยที่ 2 ว่าไม่รู้เห็นแม้โจทก์จะมีนายเฟี้ยมเบิกความประกอบว่า “ฯลฯ ข้าพเจ้าเคยพบนางเล็กภรรยานายชื้นได้ถามเขาว่าเคยทำสัญญาขายคืนให้โจทก์หรือเปล่า เขารับว่าได้ทำ แต่ยังไม่ได้โอนให้ ฯลฯ” ก็ดี จำเลยที่ 2 ก็เบิกความปฏิเสธความข้อนี้ จำต้องอาศัยหนังสือสัญญาประกอบตกลงกันอย่างไร หนังสือสัญญาขึ้นต้นว่า”ฉัน นายผ่อง ฯลฯ ได้นำเงิน 1,200 บาท (หนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน)มาให้ไว้กับนายชื้น ฯลฯ เพื่อขอซื้อนาคืน ตามหมายเลขโฉนดที่ 913 ฯลฯ”สัญญาข้อ 3 ที่ว่าถ้าจำเลยหาซื้อ (ที่ดิน) ได้ราคาพอสมควรจะหักโอนให้โจทก์กับสัญญาข้อ 5 ว่า ถ้าจำเลยยังหาซื้อ (ที่ดิน) ไม่ได้ก็ยังไม่หักโอนให้กับโจทก์พิเคราะห์สัญญา 2 ข้อนี้ประกอบกันแล้วน่าจะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนมากกว่าเงื่อนเวลา เมื่ออ่านรวมกันทั้งหมดแล้วเป็นอันได้ความว่า โจทก์นำเงิน 1,200 บาทมาวางเพื่อขอซื้อนาคืน จำเลยจะโอนให้เมื่อซื้อนาใหม่ได้ในราคาพอสมควร

เงื่อนไขที่ว่าจะโอนให้ต่อเมื่อซื้อนาใหม่ได้ในราคาสมควรจะต้องพิเคราะห์ประกอบกับราคาที่จำเลยขายให้ 1,200 บาทด้วยเพราะเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยขายนาเอาเงินนั้นมาซื้อใหม่

จำเลยซื้อใหม่ราคาไร่ละราว 1,000 บาท สูงกว่าราคาเดิมมากเห็นได้ว่ามิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่าจำเลยจะโอนนาให้สัญญาจึงไม่มีผลบังคับ

การที่จำเลยเพิ่งซื้อได้เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึง 3 ปีไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตของจำเลย

ส่วนเรื่องที่โจทก์ให้ข้าวแก่จำเลยปีละ 100 ถังรวม 2 ปี โดยอ้างว่าให้เพื่อซื้อความรำคาญนั้นเหตุผลไม่น่าเชื่อเพราะมากเกินไปรูปคดีน่าเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายตกลงไม่ซื้อขายกันแล้ว และโจทก์เป็นผู้เช่านาจากจำเลย โดยยอมให้ข้าวเป็นค่าเช่าปีละ 100 ถัง ดังจำเลยนำสืบ เมื่อฟังข้อเท็จจริงดังนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายที่โต้เถียงกันมาฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าทนายแทนจำเลยอีก 300 บาท

Share