คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2743/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ครบถ้วนแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ในคำขอท้ายฟ้องกลับขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8,72 ทวิโดยมาตรา 72 ทวิ เป็นบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ ด้วย เห็นได้ว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิด เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสม ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้าไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)และมาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน แล้วรวมโทษ 2 กระทงเข้าเป็นจำคุก 1 ปี เมื่อรวมโทษฐานทำร้ายร่างกายเป็นจำคุก 2 ปีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือนให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 80, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8, 72, 72 ทวิ ริบของกลางและนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 496/2533 หมายเลขดำที่ 727/2534 หมายเลขแดงที่ 589/2537 หมายเลขดำที่ 356/2537 ของศาลชั้นต้น และนับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3/2535 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ริบของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 496/2533 และหมายเลขแดงที่ 589/2537 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 727/2534หมายเลขดำที่ 356/2537 และหมายเลขดำที่ 3/2535 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อด้วยนั้น ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงในบริเวณที่เกิดเหตุ 3 นัด และผู้เสียหายถูกทำร้ายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่พาอาวุธปืนไปยิงในบริเวณที่เกิดเหตุและทำร้ายร่างกายผู้เสียหายหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ แล้วจำเลยยังใช้ของแข็งตีศีรษะของผู้เสียหายจนแตกและเตะผู้เสียหายด้วย นางสังเวียน เกตุสิริ ภริยาของนายพิสุทธิ์นักดนตรีในร้านที่เกิดเหตุก็เบิกความว่าเห็นจำเลยยิงผู้เสียหาย 3 นัดเมื่อผู้เสียหายล้มลง จำเลยเข้าไปกระทืบและใช้อาวุธปืนตีศีรษะของผู้เสียหาย นอกจากนี้นางวันเพ็ญเจ้าของร้านที่เกิดเหตุกับนายพิสุทธิ์เบิกความด้วยว่าได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด โดยนายพิสุทธิ์เบิกความว่าหลังเสียงปืนดังขึ้นแล้วพยานแอบดูอยู่ในร้านเห็นผู้เสียหายนอนอยู่และจำเลยกำลังตีผู้เสียหายและเห็นจำเลยถือปืนขู่ไม่ให้คนอื่นช่วยผู้เสียหายส่วนนางวันเพ็ญเบิกความว่าหลังเกิดเหตุเมื่อพยานตามไปที่สถานีตำรวจพบผู้เสียหายซึ่งบอกพยานว่าจำเลยเมาไม่ทราบว่าพูดอะไร ผู้เสียหายเดินออกไปดูที่ใต้ต้นไม้ก็ถูกจำเลยยิง และโจทก์ยังมีนายเดชา รักษาเวียงซึ่งอยู่ภายในร้านที่เกิดเหตุมาเบิกความด้วยว่า หลังจากได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัดแล้วพยานตกใจ ออกไปดูเห็นจำเลยกำลังชกต่อยกับผู้เสียหายโดยจำเลยถือของแข็งมีลักษณะคล้ายอาวุธปืนด้วย เห็นว่า ทั้งนางสังเวียนนายพิสุทธิ์ กับนางวันเพ็ญต่างรู้จักจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าจำจำเลยได้ไม่ผิดตัว ส่วนผู้เสียหายกับนายเดชาแม้จะไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนเกิดเหตุแต่ก็เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองเห็นเหตุการณ์และจำจำเลยได้ เพราะบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าสว่างเพียงพอ ผู้เสียหายระบุชื่อจำเลยเป็นคนร้ายทั้งต่อร้อยตำรวจเอกสวัสดิ์พนักงานสอบสวน และต่อนางวันเพ็ญตั้งแต่คืนเกิดเหตุ คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักในการรับฟังที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เบิกความขัดแย้งแตกต่างกัน ไม่น่าเชื่อถือเห็นว่า ข้อแตกต่างตามฎีกาของจำเลยเป็นเพียงรายละเอียดของเหตุการณ์ซึ่งพยานแต่ละปากอาจมีความสามารถในการจดจำไม่เท่ากัน การเบิกความแตกต่างกันไปบ้างยังไม่พอฟังเป็นพิรุธ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนตามฟ้องมาเป็นของกลาง และหากจำเลยยิงผู้เสียหายในระยะห่างเพียง 1 เมตร ถึง 3 นัด น่าจะถูกลำตัวของผู้เสียหายบ้าง ทั้งบาดแผลของผู้เสียหายก็ไม่แน่ว่าจะเกิดจากกระสุนปืนหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จะไม่มีการยึดอาวุธปืนตามฟ้องมาเป็นของกลางก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงและทำร้ายผู้เสียหาย ก็รับฟังได้ต่อไปด้วยว่าจำเลยมีอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนนั้นติดตัวไปยังที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยิงผู้เสียหายไม่ถูกลำตัวหรืออวัยวะสำคัญก็อาจเป็นเพราะจำเลยเมาสุราหรือไม่ได้ตั้งใจจะยิงให้ถูกลำตัวหรืออวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยแล้วว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายก็เป็นได้ สำหรับบาดแผลของผู้เสียหายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องนั้น แม้นายแพทย์กิตติ ตันติวงศ์กานต์ ผู้ตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายจะมิได้เบิกความยืนยันว่าบาดแผลเกิดจากถูกกระสุนปืนก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าอาจเกิดจากกระสุนปืนก็ได้ในขณะเกิดเหตุมีการชุลมุนทำร้ายกัน จะให้ผู้เสียหายจดจำได้หมดว่าบาดแผลใดเกิดจากอะไรย่อมเป็นไปไม่ได้ เรื่องบาดแผลของผู้เสียหายจึงยังไม่อาจถือเป็นพิรุธแก่พยานโจทก์ได้เช่นเดียวกัน ฎีกาในตอนอื่น ๆ ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้ ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่พาอาวุธปืนไปยังที่เกิดเหตุ ยิง ตีและชกต่อยจนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวฟ้องโจทก์มิได้อ้างมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ครบถ้วนแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้วแต่ในคำขอท้ายฟ้องกลับขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8,72 ทวิ โดยมาตรา 72 ทวิ เป็นบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ ด้วยจึงเห็นได้ว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิด เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้าไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) และมาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือนฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน แล้วรวมโทษ 2 กระทงนี้เข้าเป็นจำคุก1 ปี เมื่อรวมโทษฐานทำร้ายร่างกายเป็นจำคุก 2 ปี นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือนให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง โทษจำคุก 12 เดือนจึงคำนวณได้ 360 วัน ในขณะที่โทษจำคุก 1 ปี ย่อมมีถึง 365 วันหรือ366 วัน แล้วแต่กรณี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำโทษจำคุกกระทงละ6 เดือน 2 กระทงมารวมกันเป็นจำคุก 1 ปี จึงไม่ถูกต้อง เพราะทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้น ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา”

พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share