แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรณีที่มีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ศาลแรงงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างต่อไปในอัตราที่เคยได้รับอยู่ในขณะที่จะมีการเลิกจ้างประการหนึ่ง แต่ถ้าเห็นว่าลูกจ้าง นายจ้างไม่อาจที่จะร่วมงานกันต่อไปได้ด้วยดี ก็มีอำนาจสั่งไม่ให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ แต่ต้องให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายชดใช้ให้ลูกจ้างจำนวนหนึ่ง การที่ลูกจ้างจะได้รับค่าเสียหายจึงมีเพียงกรณีที่ศาลแรงงานมิได้มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานเท่านั้นในกรณีที่ศาลแรงงานสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน กฎหมายหาได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานไว้ด้วยไม่เนื่องจากลูกจ้างได้รับประโยชน์จากการกลับเข้าทำงานแล้ว
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาคดีนี้เข้ากับคดีหมายเลขดำที่ 1865/2530 ของศาลแรงงานกลาง โดยเรียกโจทก์ในคดีนี้ว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 1865/2530 ว่าโจทก์ที่ 2คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 เป็นอันยุติในศาลแรงงาน คดีคงขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะโจทก์ที่ 1
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานขับรถโดยสารของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยกล่าวหาว่ากระทำการส่อไปทางทุจริต เรียกเก็บเงินค่าระวางบรรทุก 200 บาท ไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวซึ่งไม่เป็นความจริง และการสอบสวนโจทก์ทั้งสองไม่ชอบด้วยระเบียบของจำเลย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ อัตราค่าจ้างและเงินทุกประเภทตามเดิมกับให้จ่ายเงินทุกประเภทนั้นนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานได้ ก็ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยเงินสะสม เงินประกันแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันเบียดบังค่าระวางบรรทุกสิ่งของ 800 บาท เป็นการทุจริตผิดระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานและให้ใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดิม จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 เบียดบังค่าระวางจำนวน200 บาท เป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พ.ศ. 2522 เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนโจทก์ที่ 1 คดีไม่พอฟังว่าร่วมกับโจทก์ที่ 2 ทุจริตต่อหน้าที่ การเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างเดิมขณะมีคำสั่งเลิกจ้างโดยนับอายุงานต่อเนื่องให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เดือนละ 3,420 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์ที่ 1 กลับเข้าทำงานให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน 2,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยสำนวนแรกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงประการเดียว คือ สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปหรือมิฉะนั้นก็ให้กำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนการรับกลับเข้าทำงาน การที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 กลับเข้าทำงาน แล้วกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1อีกด้วยนั้น เป็นการกำหนดเกินกว่าที่ความในมาตรา 49 ให้อำนาจไว้ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้น ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา” ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรานี้เป็นบทคุ้มครองลูกจ้างโดยมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรม หากมีการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือเป็นลูกจ้างของนายจ้างนั้น โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างต่อไปในอัตราที่เคยได้รับอยู่ในขณะที่มีการเลิกจ้างประการหนึ่ง แต่ถ้าศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจที่จะทำงานร่วมกันต่อไปได้ด้วยดีแล้ว ก็มีอำนาจที่จะสั่งไม่ให้นายจ้างรับลูกจ้างนั้นกลับเข้าทำงานก็ได้ แต่ต้องให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนหนึ่งชดใช้ให้แก่ลูกจ้างแทนโดยมีหลักเกณฑ์การคำนวณไว้ว่าจะควรให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด การที่ลูกจ้างจะได้รับค่าเสียหายจากนายจ้างจึงมีเพียงกรณีที่ศาลแรงงานมิได้มีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานเพียงประการเดียวเท่านั้น กฎหมายหาได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานไว้ด้วยไม่เนื่องจากลูกจ้างได้รับประโยชน์จากการกลับเข้าทำงานนั้นแล้วดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมขณะที่มีคำสั่งเลิกจ้างโดยนับอายุงานต่อเนื่องแล้วเช่นนี้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับค่าเสียหายหรือค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์ที่ 1 กลับเข้าทำงานอีกได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 3,420 บาท นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์ที่ 1 กลับเข้าทำงานนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับคำขอเรื่องค่าเสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง