คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทเดิมเป็นของบิดามารดาโจทก์โจทก์ได้รับมรดกมารดามาส่วนหนึ่ง บิดาสละให้โจทก์อีกส่วนหนึ่ง แล้วบิดากลับเอาไปโอนขายให้จำเลย จำเลยรับโอนไว้โดยไม่สุจริต ขอเพิกถอนการโอน และแสดงว่าเป็นที่ของโจทก์ จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของบิดาโจทก์โอนขายให้จำเลยโดยสุจริต โจทก์จำเลยท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อเดียวว่า จำเลยรับโอนที่ดินจากบิดาโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ ดังนี้ เมื่อคดีได้ความว่า จำเลยรับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์ย่อมชนะคดีและแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องบิดาด้วย ศาลก็ย่อมชี้ขาดทั้งในข้อที่ว่า ที่ดินเป็นสิทธิของโจทก์ และให้เพิกถอนนิติกรรมที่บิดาโจทก์โอนขายให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ (เด็กชายพิทักษ์) เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายชื่นและนางบุญเซี่ยม ๆ ตายมาราว 10 ปีเศษแล้ว ปัจจุบันโจทก์อยู่ในความปกครองของนายเอี่ยวเล้ง โดยคำพิพากษาของศาลจังหวัดลำพูน โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทนี้โดยสงบโดยสุจริตเปิดเผยเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมา 10 ปีเศษแล้ว ตั้งแต่นางบุญเซี่ยม มารดาตายเป็นต้นมาทั้งนี้เพราะที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายชื่นบิดากับนางบุญเซี่ยมมารดา ส่วนหนึ่งแห่งที่พิพาทจึงเป็นมรดกตกอยู่แก่โจทก์และเมื่อนางบุญเซี่ยมตายไปแล้วนายชื่นได้มอบที่พิพาทส่วนของตนที่เหลือจากเป็นมรดกของนางบุญเซี่ยมให้แก่โจทก์ด้วย นอกนั้นนายชื่นยังได้แสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่พิพาทยกให้แก่โจทก์โดยไปจดแจ้งรายการเสียภาษีบำรุงท้องที่โอนเป็นชื่อของโจทก์ ๆ จึงได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของตนเองเป็นเจ้าของเรื่อยมาจนบัดนี้

ครั้นวันที่ 11 พฤษภาคม 2497 นายชื่น บิดาคิดจะโลภเอาที่พิพาทเป็นของตน จึงถือโอกาสที่โจทก์ยังเยาว์อยู่ไปออกประกาศแบ่งขายที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้ง 3 คนละ 1 ส่วนต่ออำเภอ นายเอี่ยวเล้งซึ่งเป็นตาโจทก์ได้ไปร้องคัดค้าน คณะกรรมการอำเภอเปรียบเทียบให้โจทก์ไปดำเนินคดีเถียงสิทธิต่อนายชื่นที่ศาลเอง โจทก์จึงไปร้องต่อพนักงานอัยการให้ดำเนินคดีฟ้องนายชื่นบิดา ระหว่างพนักงานอัยการไกล่เกลี่ยเรื่องนี้อยู่ นายชื่นกับจำเลยทั้ง 3 ได้บังอาจฉ้อฉลทำอุบายต่อคณะกรรมการอำเภอแล้วทำนิติกรรมโอนขายที่พิพาทให้จำเลยทั้ง 3 ไปในราคา 12,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายฉบับที่ 3/13 ฉบับที่ 4/14 ฉบับที่ 5/15 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2497 การทำนิติกรรมโอนขายที่พิพาทเช่นนี้เป็นการโอนอันไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะโจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนทั้งโจทก์มีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวต่อที่พิพาทมา 10 กว่าปีแล้ว จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนทำลายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวนั้นเสีย และแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โจทก์มีสิทธิครอบครอง กับห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องรบกวนรอนสิทธิในที่พิพาทอีกต่อไป จำเลยทั้ง 3 ให้การต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นของนายชื่น ๆ ไม่เคยมอบที่ดังกล่าวให้กับโจทก์หรือนายเอี่ยวเล้งเลย และนายชื่นไม่เคยแสดงเจตนาสละสิทธิการครอบครองที่รายนี้ การที่จำเลยตกลงซื้อขายที่พิพาทจากนายชื่น อำเภอไปรังวัดเพื่อประกาศซื้อขายที่รายนี้มีนายเอี่ยวเล้งไปคัดค้านนั้น ต่อมาทางอำเภอเห็นว่า ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องจนเกินกำหนดแล้ว อำเภอจึงทำนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่พิพาทให้จำเลย จึงถือว่าจำเลยได้ที่พิพาทมาโดยสุจริต โดยเสียค่าตอบแทนโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิจะขอเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่พิพาท

โจทก์จำเลยอ้างเอกสารต่าง ๆ แล้วตกลงกันท้าขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อเดียวว่า จำเลยได้รับโอนที่พิพาทไว้จากนายชื่นบิดาโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ ในการชี้ขาดประเด็นข้อนี้คู่ความขอให้วินิจฉัยไปตามพยานเอกสารตามที่รับกันโดยต่างไม่ติดใจสืบพยานบุคคลต่อไป

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์จำเลยตกลงท้ากันให้ศาลชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อเดียว ถือเอาเป็นข้อแพ้ชนะกัน ปัญหานอกเหนือคำท้าย่อมหมดไป เพราะโจทก์จำเลยสละสิทธิแล้ว และเห็นว่า กรณีนี้ต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ซึ่งการเพิกถอนการโอนตามมาตรานี้ โจทก์จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย คืออยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนทรัพย์สิทธิเหนือที่พิพาทอยู่ก่อน เมื่อจำเลยยอมให้ผ่านปัญหาข้อนี้ เท่ากับรับรองอยู่ในตัวว่าโจทก์มีฐานะเช่นนั้นแล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยได้รับโอนที่พิพาทโดยสุจริตหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์เห็นได้ชัดว่า จำเลยรู้เท่าถึงความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ จึงเป็นการรับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดีแก่โจทก์ตามคำท้าจึงพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นสิทธิของเด็กชายพิทักษ์ปัญญา โจทก์ให้เพิกถอนการโอนตามสัญญาซื้อที่ดินทั้งสามฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2497 เสีย ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คงเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นทุกประการ เว้นแต่ข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจะพิพากษาดังนั้นยังไม่ได้ เพราะโจทก์ฟ้องแต่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนไม่ได้ฟ้องนายชื่นผู้โอนด้วย เมื่อศาลพิพากษาให้ทำลายการโอน ก็หมายความว่า ที่พิพาทกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนโอน ซึ่งจะเป็นของโจทก์หรือของนายชื่นก็แล้วแต่ศาลจะชี้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อันอาจเป็นการกระทบกระเทือนถึงนายชื่นยังไม่ได้เพราะนายชื่นมิได้เป็นจำเลยด้วย จึงพิพากษาแก้ให้ยกข้อที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นสิทธิของโจทก์นั้นเสีย นอกจากนี้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์แต่ฝ่ายเดียวฎีกาคัดค้านข้อที่ศาลอุทธรณ์ไม่ชี้ขาดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ๆ มีสิทธิครอบครอง ขอให้พิพากษาคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาตรวจปรึกษาแล้ว เห็นว่าคดีนี้มีประเด็นอยู่ 2 ข้อ คือที่พิพาทเป็นสิทธิของโจทก์หรือไม่ และจำเลยได้รับโอนมาโดยสุจริตหรือไม่ แต่คู่ความตกลงท้ากันให้ศาลชี้ขาดในประเด็นข้อหลังข้อเดียวถือเป็นข้อแพ้ชนะกัน ปัญหาอื่นนอกเหนือคำท้าย่อมหมดไป เพราะถือว่าคู่ความได้สละยอมให้ผ่านไปแล้ว ดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและเมื่อคดีนี้ศาลชี้ขาดตามข้อท้าฟังว่า จำเลยได้รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยก็ย่อมต้องแพ้คดีแก่โจทก์ทั้งหมดตามคำท้าฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นสิทธิของโจทก์จึงเป็นการชอบแล้วความจริงศาลอุทธรณ์เองก็เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นสิทธิของโจทก์ด้วย ไม่ใช่เป็นการตัดสินนอกคำท้า แต่ที่ศาลอุทธรณ์เกรงไปว่าการที่ศาลชี้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ (ความจริงเป็นสิทธิไม่ใช่กรรมสิทธิ์)ของโจทก์อาจเป็นการกระทบกระเทือนถึงนายชื่นนั้น น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไป เพราะการที่ศาลชี้ขาดเช่นนั้นหาเป็นการผูกมัดนายชื่นซึ่งเป็นคนภายนอกคดีไม่ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลฎีกาพร้อมทั้งค่าทนาย 100 บาท แทนโจทก์

Share