คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมดังกล่าว ศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับแก่บุคคลนอกคดีได้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์เพราะจะมีผลกระทำไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญากู้ยืมเงินระหว่างจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 เป็นโมฆะ และหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 530/2541 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
โจทก์ไม่นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 7
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 และหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 530/2541 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรีเป็นโมฆะ แต่สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอ้างว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั่นเอง การเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมดังกล่าว ศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับแก่บุคคลนอกคดีได้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์ เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยคดีให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คงเห็นพ้องด้วยในผลของคดีที่ให้ยกฟ้อง”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

Share