คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6081/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน โจทก์ฟ้องการไฟฟ้านครหลวงเป็นจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยเข้าไปปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าในเขตที่ดินโฉนดเลขที่1006 เลขที่ 77997 เลขที่ 77998 และเลขที่ 78000 ของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 เฉพาะส่วนนอกจากที่แบ่งไว้เป็นถนนและที่ดินโฉนดเลขที่ 77997 เลขที่ 77998 และเลขที่ 78000การไฟฟ้านครหลวงให้การว่า เมื่อ ล. เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ออกเป็น 72 แปลง จัดสรรให้บุคคลอื่นการแบ่งแยกได้กันที่ดินทำเป็นถนนเพื่อให้ประชาชนในบริเวณนั้นใช้โดยล.มีเจตนาจะให้ที่ดินส่วนที่กันไว้เป็นทางสาธารณะและประชาชนได้ใช้สัญจรมากว่า 20 ปีแล้ว การไฟฟ้านครหลวงได้เข้าไปปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมจากถนนไปสู่ที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเป็นทางสาธารณะไปแล้วนั้นก็ได้แบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย ๆ อีกหลายแปลงรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 77997 เลขที่ 77998 และเลขที่ 78000 ปัญหาที่ว่าที่ดินทั้งสี่โฉนดของโจทก์เป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่พิพาทกันโดยตรงในคดีก่อน ซึ่งในคดีก่อนศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินของโจทก์ตกเป็นทางสาธารณะแล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของการไฟฟ้านครหลวงไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาก็ฟังข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกันว่า ล. ได้อุทิศที่ดินทั้งสี่โฉนดให้เป็นทางสาธารณะแล้วดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ด้วยเพราะเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรกข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องฟังว่าที่ดินทั้งสี่แปลงพิพาทในคดีนี้เป็นทางสาธารณะ การที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งกรมที่ดินจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 บันทึกลงในโฉนดที่ดินทั้งสี่แปลงว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) จึงมิใช่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด4 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 77997 โฉนดเลขที่ 102249 โฉนดเลขที่102250 โฉนดเลขที่ 158003 (แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 78000)ได้แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินเดิมเลขที่ 1006 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2517ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมาได้มีผู้บุกรุกเข้ามาในที่ดินทั้ง4 โฉนดของโจทก์ดังกล่าว อ้างว่าเป็นทางสาธารณะ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2520 โจทก์ได้ฟ้องการไฟฟ้านครหลวงในข้อหาปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าในที่ดินตามโฉนดที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีถึงที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่านายเลื่อน บัวสุวรรณ เจ้าของที่ดินเดิมดังกล่าวมีเจตนาอุทิศที่ดินดังกล่าวที่เป็นซอยย่อยให้เป็นทางสาธารณะแล้ว การไฟฟ้านครหลวงจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ 6627/2520 หมายเลขแดงที่9677/2521 เขตบางกะปิ ได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ แจ้งว่าที่ดินทั้ง 4 แปลงของโจทก์ดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้วและกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งมายังโจทก์ว่าที่ดินทั้ง 4 แปลง ของโจทก์เป็นทางสาธารณะแล้ว แต่หลังจากนั้นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ได้แจ้งให้โจทก์ไปเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินทั้ง 4 แปลงนั้นซึ่งโจทก์ก็ได้ไปชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2528 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกะปิ ของจำเลยที่ 2 ก็ได้บันทึกลงไว้ในโฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน (ฉบับหลวง) ของโฉนดที่ดินเลขที่ 77997, 102249และ 102250 ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) และตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2523 ดังปรากฏอยู่ในสำเนาโฉนดที่ดินทั้ง 3 ฉบับ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์ได้โอนขายที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวให้บุคคลอื่นไปแล้ว แต่ผู้รับโอนเข้าทำประโยชน์ไม่ได้จึงได้โอนกลับคืนมาให้โจทก์ โจทก์ต้องคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อไปเป็นเงินมากกว่า800,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยสำหรับที่ดินแปลงที่ 4 โฉนดเลขที่78000 โจทก์ต้องเสียเนื้อที่ดินไปเป็นทางสาธารณะด้วยความจำใจคิดเป็นเงิน 250,000 บาท โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนแปลงละประมาณ 3,000 บาท รวม 4 แปลงเป็นเงิน 12,000 บาทค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าวไม่ได้เป็นอย่างต่ำแปลงละ 25,000 บาท รวม 4 แปลง คิด 1 ปี เป็นเงิน100,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 1,237,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองเพียง 100,000 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเพิกถอนคำสั่งและเพิกถอนบันทึกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้ง 4 แปลง ที่กล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์เป็นทางสาธารณะนั้นเสีย ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินทั้ง 4 โฉนด ของโจทก์ตามฟ้องได้ตกเป็นทางสาธารณะอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินแล้ว เพราะนายเลื่อน บัวสุวรรณเจ้าของที่ดินเดิมทั้งหมดนั้นได้ทำการแบ่งแยกโฉนดดังกล่าวมาจากโฉนดที่ดิน 1006 เดิม แล้วได้ยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ปรากฏตามรูปแผนที่ในภาพถ่ายโฉนดที่ดินเลขที่ 1006 ท้ายคำให้การหมายเลข 1 ซึ่งบุคคลผู้อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงนั้นได้ใช้เป็นทางสาธารณะสัญจรไปมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปีแล้วแม้นายเลื่อนได้ตายไปแล้วและทายาทของนายเลื่อนจะได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้โจทก์ก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินในส่วนที่เป็นทางสาธารณะดังกล่าว แม้โจทก์จะได้ขอแบ่งแยกที่ดินจากโฉนดดังกล่าวและเจ้าพนักงานได้ออกโฉนดเป็นที่ดินโฉนดเลขที่77997, 78000, 102249, 102250 และ 158003 ก็เป็นการออกทับทางสาธารณประโยชน์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจเพิกถอนได้ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวงเป็นจำเลย เพื่อให้รื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006, 77997, 77998 และ 78000 ของโจทก์ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินมีโฉนดทั้ง 4 แปลง เป็นทางสาธารณะจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2523คำพิพากษาศาลฎีกาจึงผูกพันโจทก์ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1ที่ 2 ตามฟ้องจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับและไม่นำสืบโต้เถียงกันในเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงในคดีนี้เป็นที่ดินซึ่งโจทก์เคยฟ้องการไฟฟ้านครหลวงเป็นจำเลยกล่าวหาว่าเข้าไปปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าในที่ดินดังกล่าวโดยที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 102249 และเลขที่ 102250 เป็นส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ในคดีก่อน และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่158003 ได้แบ่งแยกออกจากที่ดินเลขที่ 78000 ในคดีก่อน ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2523 มีปัญหาข้อแรกซึ่งสมควรวินิจฉัยก่อนว่าคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2523 ผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในคดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องการไฟฟ้านครหลวงเป็นจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยเข้าไปปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 เลขที่ 77997 เลขที่ 77998 และเลขที่ 78000 ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 เฉพาะส่วนนอกจากที่แบ่งไว้เป็นถนน และที่ดินโฉนดเลขที่ 77997 เลขที่ 77998 และเลขที่78000 จำเลยให้การว่า เมื่อนายเลื่อนเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ออกเป็น 72 แปลงจัดสรรให้บุคคลอื่น การแบ่งแยกได้กันที่ดินทำเป็นถนนจากลาดพร้าวเข้าสู่ที่ดินไว้เป็นสองสายคือซอยสังคมสงเคราะห์และซอยแหลมทองและมีถนนเชื่อมระหว่างถนนสองสายนี้อีก 3 แห่ง เพื่อให้ประชาชนในบริเวณนั้นใช้เป็นทางสู่ถนนลาดพร้าว โดยนายเลื่อนมีเจตนาจะให้ที่ดินส่วนที่กันไว้เป็นทางสาธารณะและประชาชนได้ใช้สัญจรมากว่า20 ปีแล้ว จำเลยจึงได้เข้าไปปักเสาไฟฟ้าและพาดเสาไฟฟ้าและสูงเชื่อมจากถนนลาดพร้าวไปสู่ที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเป็นทางสาธารณะไปแล้วนั้นก็ได้แบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย ๆ อีกหลายแปลง รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 77997เลขที่ 77998 และเลขที่ 78000 ดังนั้นปัญหาที่ว่าที่ดินทั้งสี่โฉนดของโจทก์เป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่พิพาทกันโดยตรงในคดีก่อน ซึ่งศาลชั้นต้นได้ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินของโจทก์ตกเป็นทางสาธารณะ แล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาก็ฟังข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกันว่านายเลื่อน บัวสุวรรณได้อุทิศที่ดินทั้งสี่โฉนดให้เป็นทางสาธารณะแล้ว อันเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ทีเดียว ดังนั้นการที่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่านายเลื่อนได้อุทิศที่ดินทั้งสี่โฉนดให้เป็นทางสาธารณะแล้วเช่นนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ด้วยเพราะเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคแรก ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องฟังว่าที่ดินทั้งสี่แปลงพิพาทในคดีนี้เป็นทางสาธารณะ ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 1มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 บันทึกลงในโฉนดที่ดินทั้งสี่แปลงพิพาทว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ตามหนังสือของเขตบางกะปิ และตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2523 นั้นจึงมิใช่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์
พิพากษายืน

Share