คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2736/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ข้อ 351กำหนดว่า ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือบุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้รับ เมื่อปรากฏว่าการส่งแบบแจ้งการประเมินโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับได้ส่งไปยังสถานที่อันเป็นสำนักทำการงานของผู้รับซึ่งได้รื้อถอนไปก่อนแล้วทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เซ็นรับเอกสารแทนผู้รับเป็นใคร เกี่ยวพันกับผู้รับอย่างไร และการเซ็นรับกระทำที่อาคารหลังใด เช่นนี้ แม้ผู้รับจะยังมิได้จดทะเบียนเลิกห้างหรือแจ้งย้ายภูมิลำเนาไปจากเดิมก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าการแจ้งการประเมินดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการแจ้งการประเมินตามหนังสือที่ ต.1/1041/2/01933-01934 ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2526ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการอยู่ด้วยรับอุทธรณ์ของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2524ไว้พิจารณา จำเลยทั้งสองให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 151 ถนนเจริญเมืองแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้รับแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวข้างต้นแล้ว เมื่อวันที่31 สิงหาคม 2524 ปรากฏตามสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 7 แต่โจทก์มิได้นำเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โดยโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2524 ซึ่งเป็นการยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณารายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือกองอุทธรณ์ภาษีกรมสรรพากรที่ กค.0816/13368 ลงวันที่ 30 กันยายน 2530 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 8 โจทก์ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า สำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ ตั้งอยู่เลขที่ 151 ถนนเจริญเมืองแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในขณะที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ส่งเอกสารแจ้งการประเมินตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มที่ ต.1/1041/2/01933-01934ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2524 รวม 2 ฉบับ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับนั้นอาคารสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นยังมิได้รื้อถอนไปแต่อย่างใด และโจทก์ก็ได้รับแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2524 ปรากฏตามสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 7 การแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในวันที่8 ตุลาคม 2524 โจทก์มิได้ไปพบกับเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ณสำนักงานสรรพากรเขตปทุมวันแต่อย่างใด โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินตามคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินเพิ่มตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5 และ 6 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2524 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2524 การยื่นอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เกิน 30 วัน การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มิได้ปฏิบัติตามหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร โดยโจทก์มิได้ไปพบเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้จัดส่งบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2521 และ 2522 ไปส่งมอบให้เจ้าพนักงานเพื่อทำการไต่สวนตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นเงินภาษีจำนวน 2,157,798.17 บาท เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้ว เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินเงินภาษีตามที่รู้เห็นว่าถูกต้องและแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระไปยังโจทก์ กรณีของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางให้พิพากษาและมีคำสั่งให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า การแจ้งการประเมินตามหนังสือที่ต.1/1041/2/01933-01934 ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2526 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2524 ไว้พิจารณาต่อไป จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลถูกเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ประเมินให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีพ.ศ. 2521 เพิ่มเป็นเงิน 968,935.24 บาท ตามหนังสือที่ต.1/1041/2/01933 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2524 และสำหรับปี พ.ศ. 2522ถูกประเมินให้เสียเพิ่มเป็นเงิน 1,188,862.93 บาท ตามหนังสือที่ต.1/1041/2/01934 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2524 โจทก์จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการอยู่ด้วยผู้หนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2524 ปรากฏตามสำเนาคำอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.3 แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ปรากฏตามหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2530 เอกสารหมายจ.7 อ้างว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินตั้งแต่วันที่ 31สิงหาคม 2524 อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการยื่นเกินกำหนดเวลาตามมาตรา30 แห่งประมวลรัษฎากร ปัญหาในชั้นอุทธรณ์มีว่า การแจ้งการประเมินตามหนังสือที่ ต.1/1041/2/01933-01934 ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม2524 ของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้ความจากนายวิวัฒน์ ศิริชาติชัย พยานโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ว่า ห้างโจทก์เป็นปั๊มน้ำมันตั้งอยู่ที่เลขที่ 151 ถนนเจริญเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร ซึ่งบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก่อสร้างให้โจทก์เช่า ต่อมาบริษัทดังกล่าวเห็นควรเลิกกิจการจึงรื้อปั๊มน้ำมันดังกล่าวออกไปในเดือนมกราคม 2524 โจทก์จึงได้ขนย้ายสิ่งของและย้ายคนของโจทก์ออกไป นายสมนึก เกียรติพงษ์พยานโจทก์ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทดังกล่าวก็เบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของนายวิวัฒน์ดังกล่าว นอกจากนี้ปรากฏจากเอกสารหมาย ล.1 ลำดับที่ 51 ว่าร้อยโทประจักษ์ ลอยพิมาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยได้ทำบันทึกลงวันที่ 13 สิงหาคม 2524 ว่า ได้ไปตรวจ ณ สถานที่ตั้งปั๊มน้ำมันของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าปั๊มดังกล่าวรื้อถอนออกไปประมาณปีเศษแล้ว ปัจจุบันปลูกสร้างตึกแถวขึ้นมาแทน จึงฟังได้ว่าปั๊มน้ำมันดังกล่าวของโจทก์ได้ถูกรื้อถอนออกไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2524ดังที่โจทก์นำสืบ
สำหรับการส่งแบบแจ้งการประเมินตามหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น ได้ความจากนายประเสริฐ สำราญรมย์ พยานจำเลยซึ่งเป็นบุรุษไปรษณีย์ว่า พยานเป็นผู้ส่งเอกสารดังกล่าวให้โจทก์เมื่อวันที่31 สิงหาคม 2524 โดยมีหญิงชื่อสุภาพรเป็นผู้ลงชื่อในใบตอบรับตามเอกสารหมาย ล.1 ลำดับที่ 80 พยานปากนี้รับว่าปั๊มน้ำมันของโจทก์เลิกกิจการแล้วและพยานไม่ได้สอบถามว่าผู้ลงชื่อมีความเกี่ยวพันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับอย่างไร ซึ่งตามปกติบุรุษไปรษณีย์ต้องถามเพื่อให้ผู้เซ็นรับลงไว้ในช่องที่ว่าเกี่ยวพันกับผู้รับอย่างไรเมื่อเป็นดังนี้ใบตอบรับจึงมิได้ระบุว่าหญิงที่ชื่อสุภาพรซึ่งลงชื่อรับเอกสารดังกล่าวเกี่ยวพันกับโจทก์อย่างไร การส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็นการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจึงต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาทกันในคดีนี้ ไปรษณียนิเทศดังกล่าวข้อ 351 กำหนดว่า ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือบุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานของผู้รับ เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร ผู้ทำหน้าที่เวรรับหรือส่งหรือเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโรงเรียนและหน่วยทหาร แต่การส่งแบบแจ้งการประเมินในกรณีนี้ไม่อาจทราบได้ว่าผู้เซ็นรับเอกสารนี้มีความเกี่ยวพันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับอย่างไรทั้ง ๆ ที่บุรุษไปรษณีย์ผู้ส่งมีหน้าที่ต้องให้ผู้เซ็นรับกรอกข้อความในช่องที่ว่าเกี่ยวพันกับผู้รับอย่างไร แต่ก็หาได้กระทำไม่ ตามใบตอบรับก็ระบุไว้ชัดว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดกิจวิวัฒน์บริการเป็นผู้รับและข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่าขณะนายประเสริฐส่งเอกสารดังกล่าวให้โจทก์นั้น ได้มีการรื้อถอนปั๊มน้ำมันอันเป็นสำนักงานของโจทก์ไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ฟังได้ว่าผู้เซ็นรับเอกสารนั้นเป็นใคร เกี่ยวพันกับโจทก์อย่างไร ทั้งไม่ปรากฏว่าการเซ็นรับกระทำที่อาคารหลังใดจึงฟังไม่ได้ว่าการแจ้งการประเมินตามหนังสือที่ ต.1/1041/2/01933-01934 ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2524 ของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายการที่โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเลิกห้างทั้งมิได้แจ้งย้ายภูมิลำเนาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ตั้งปั๊มน้ำมันใหม่หาทำให้การส่งเอกสารดังกล่าวที่ไม่ชอบกลายเป็นการส่งที่ชอบได้ไม่คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share