คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีใดจะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) หรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อ 47 (3) นั้นเอง มิใช่ว่าข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดว่าการกระทำใด ๆ เป็นกรณีที่ร้ายแรงแล้ว จะต้องถือว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นกรณีที่ร้ายแรงตามข้อ 47(3) เป็นการเด็ดขาดไปเลยไม่ การจดทะเบียนสมรสซ้อนของโจทก์หาได้ส่งผลไปถึงชื่อเสียงเกียรติภูมิในทางดีหรือไม่ดีประการใดแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ ทั้งไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ในระหว่างหมู่คณะของลูกจ้าง ไม่เป็นเหตุให้ขาดความสามัคคี ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน จนทำให้การทำงานไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น แม้คำสั่งเลิกจ้างจะได้ระบุว่าการจดทะเบียนสมรสซ้อนของโจทก์ถือเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ก็หาเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 47(3) ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จดทะเบียนสมรสซ้อน เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย ฯลฯ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสซ้อนเป็นผิดทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีศิลธรรมและคุณธรรมไม่รับผิดชอบก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งในทางวินัยถือว่าได้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แต่จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการให้ออกและให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์และเงินสวัสดิการไม่ได้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อบังคับในกรณีร้ายแรง จึงไม่ใช่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีใดจะร้ายแรงตามข้อ ๔๗(๓) หรือไม่ต้องพิจารณาตามข้อ ๔๗(๓) นั้นเอง มิใช่ว่าข้อบังคับหรือระเบียบเกีย่วกับการทำงานของนายจ้างกำหนดว่าการกระทำใด ๆ เป็นกรณีที่ร้ายแรงแล้วจะต้องถือว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นกรณีที่ร้ายแรงตามข้อ ๔๗(๓) เป็นการเด็ดขาดไปเลยทีเดียวก็หาไม่ ดังนั้น แม้ว่าคำสั่งเลิกจ้างจะได้ระบุว่าการจดทะเบียนสมรสซ้อนของโจทก์ถือเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับ ฯ ของจำเลยก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการจดทะเบียนสมรสซ้อนของโจทก์หาได้ส่งผลไปถึงชื่อเสียงเกียรติภูมิในทางดีหรือไม่ดีประการใดแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ว่าโดยปกติย่อมไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ในระหว่างหมู่คณะของลูกจ้าง ไม่เป็นเหตุให้ขาดความสามัคคีขาดประสิทธิภาพในการทำงาน จนทำให้การทำงานไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น เหตุนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การจดทะเบียนสมรสซ้อนหาเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔๗(๓) ไม่
พิพากษายืน

Share