แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่พยานฟังคำเบิกความของพยานคนก่อน ซึ่งได้เบิกความต่อหน้าตนแล้ว แม้จะเป็นคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15เพราะโดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากพยานที่เบิกความภายหลังได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อนมาแล้วไม่ว่าจะเป็นคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณา ผลก็คืออาจทำให้คำพยานที่เบิกความภายหลังไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน กรณีจึงใช้บังคับได้ทั้งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา แม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้บังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความพยานที่เบิกความภายหลังซึ่งได้ฟังคำเบิกความของพยานตนก่อนก็ตาม แต่หากปรากฏว่า คำเบิกความของพยานที่เบิกความภายหลังอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของพยานคนก่อนหรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ คำเบิกความของพยานที่เบิกความภายหลังก็เป็นการผิดระเบียบ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้ และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ต้องคัดค้านก่อนที่จะมีการนำพยานเข้าสืบเพราะเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานจะเบิกความเป็นที่เชื่อถือฟังได้หรือไม่ และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ ก็ต้องให้พยานเบิกความไปก่อนเพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังว่าเป็นการผิดระเบียบหรือไม่ และกรณีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 วรรคสองประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกสภาคหบาล เคหสถาน 4 จำเลยทั้งสองเป็นกรรมการคหบาล เคหสถาน 4 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อนายวิสิฏธ์ ทุมมานนท์ และภรรยา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 จำคุก 3 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่นางนิภาฟังคำเบิกความของนายวิสิฏฐ์ซึ่งได้เบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว แม้จะเป็นคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพราะโดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากพยานที่เบิกความภายหลังได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อนมาแล้วไม่ว่าจะเป็นคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณา ผลก็คืออาจทำให้คำพยานที่เบิกความภายหลังไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเช่นเดียวกันกรณีจึงใช้บังคับได้ทั้งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา และแม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้เป็นการบังคับมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของนางนิภาซึ่งได้ฟังคำเบิกความของนายวิสิฏฐ์มาแล้วก็ตาม แต่หากปรากฏว่าคำเบิกความของนางนิภาอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของนายวิสิฏฐ์พยานคนก่อนหรือสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้คำเบิกความของนิภาก็เป็นการผิดระเบียบ ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของนางนิภาแล้ว ปรากฏว่านางนิภาเบิกความโดยรู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกับนายวิสิฏฐ์จึงเป็นพยานสำคัญดังนั้น คำเบิกความของนางนิภาจึงอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยฟังคำเบิกความของนายวิสิฏฐ์พยานคนก่อน และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ เป็นคำเบิกความที่ผิดระเบียบไม่มีน้ำหนักให้เชื่อฟังได้ กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ต้องคัดค้านก่อนที่โจทก์จะนำนางนิภาเข้าสืบ เพราะเมื่อยังไม่ปรากฏว่าพยานจะเบิกความเป็นที่เชื่อถือฟังได้หรือไม่ และสามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ ก็ต้องให้พยานเบิกความไปก่อนเพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังว่าเป็นการผิดระเบียบหรือไม่ และกรณีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 วรรคสองประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ตามที่โจทก์ฎีกา และวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า พยานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1
พิพากษายืน