คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า”หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ” ส่วนการส่งทางไปรษณีย์ จะมีผลอย่างไรและเมื่อใดต้องพิจารณาตามไปรษณียนิเทศพ.ศ. 2529 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ฯ และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ เมื่อภรรยาของโจทก์ซึ่งอยู่บ้านเรือนเดียวกับโจทก์ย่อมถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2529ต้องถือว่าโจทก์ได้รับแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 333,334 และข้อ 336 แห่งไปรษณียนิเทศโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 2 มกราคม 2530 ซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรของจำเลยอ้างว่าโจทก์ค้าที่ดินจึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเงินเพิ่มเป็นเงิน 1,233,264.52 บาทกับภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 471,174 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน และไม่ได้ทำการค้าที่ดินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์และสั่งให้โจทก์นำเงินภาษีจำนวน 1,704,538.52 บาทไปชำระแก่จำเลย โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 483/2528 และเลขที่ 484/2528 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2528
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว เจ้าพนักงานของจำเลยได้แจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบ โจทก์ไม่โต้แย้งแต่ประการใด จึงเท่ากับโจทก์ยอมรับว่า การประเมินของจำเลยถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยื่นฟ้องพ้นกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนด 30 วันนับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2528ตามเอกสารหมาย ล.23 และ ล.24 และแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวให้โจทก์ทราบโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ พนักงานไปรษณีย์ได้นำไปส่งที่บ้านเลขที่ 207 ซอยวัดใหญ่สุพรรณ ถนนอินทรพิทักษ์แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร อันเป็นภูมิลำเนาของโจทก์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 นางสมพร นิละนนท์ภรรยาของโจทก์ ซึ่งอยู่บ้านเดียวกับโจทก์ได้ลงชื่อรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไว้จากพนักงานไปรษณีย์แทนโจทก์ในวันนั้น ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 ปัญหาวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ดังบัญญัติในประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2)หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 ที่ภรรยาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น โจทก์ไม่อยู่บ้านแต่ไปต่างจังหวัด เพิ่งกลับมาบ้านและทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2529 กำหนดเวลา 30 วัน ตามมาตรา 30(2)จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2530 จึงยังไม่เกินกำหนด 30 วัน พิเคราะห์แล้วประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า “หมายเรียกหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่น ซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการส่งทางไปรษณีย์จะมีผลอย่างไรและเมื่อใดนั้นต้องพิจารณาตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2529ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 โดยไปรษณียนิเทศฉบับดังกล่าวมีข้อกำหนดว่า
“ข้อ 333 ไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้
ข้อ 334 ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ถือว่า บุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ คือ บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสำนักทำการงานของผู้รับ ฯลฯ
ข้อ 336 ไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย”
ข้อกำหนดในไปรษณียนิเทศดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ภรรยาของโจทก์อยู่บ้านเรือนเดียวกับโจทก์จึงเป็นผู้แทนของโจทก์ตามข้อ 334 เมื่อภรรยาของโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับแล้วตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 ตามข้อ 336 กำหนดเวลา30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2529 และสิ้นสุดลงในวันที่ 29 ธันวาคม 2529โจทก์จะอ้างว่าในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 ที่ภรรยาของโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น โจทก์ไม่อยู่บ้าน โจทก์เพิ่งกลับมาและทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2529กำหนดเวลา 30 วัน ต้องเริ่มนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2529หาได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 2 มกราคม 2530ซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อที่ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี”
พิพากษายืน

Share