แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โรงค้าไม้มีรั้วรอบของชิดและนอกจากใช้เป็นสถานประกอบการค้าแล้ว ยังใช้เป็นที่พักอาศัยด้วย ในยามที่โรงค้าไม้หยุดดำเนินกิจการภายในบริเวณโรงค้าไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังย่อมไม่ใช่สาธารณสถานแต่กลับเป็นที่รโหฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(13) แม้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจะมีอำนาจจับกุมจำเลยในกรณีที่มีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าจำเลยได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78(4) ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ต้องมิใช่เป็นการจับกุมในที่รโหฐาน เพราะตามมาตรา 81 บัญญัติว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานซึ่งพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งกระทำไปไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าว การที่โจทก์ร่วมกับพวกทำการจับกุมจำเลยในที่รโหฐานจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบทั้งปราศจากอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 296
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสองขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 296 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้มาตรา 296 ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดแล้ว ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน มีกำหนด 1 ปี และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ระหว่างรายงานตัวตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 40 ชั่วโมง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุ นายพรเทพ ได้พาโจทก์ร่วมทั้งสองไปจับกุมจำเลยซึ่งนายพรเทพแจ้งความไว้ว่าขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ของผู้แจ้งได้รับความเสียหายที่บริเวณโรงค้าไม้ชื่อเจริญวัฒนาค้าไม้โจทก์ร่วมทั้งสองได้ร่วมกันจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับและหมายค้นจำเลยขัดขืนการจับกุมจนโจทก์ร่วมที่ 1 ต้องสั่งให้โจทก์ร่วมที่ 2 ติดต่อเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมาช่วยอีกสองคนจึงจับกุมจำเลยได้โรงค้าไม้ที่เกิดเหตุเป็นของนายสัมพันธ์บิดาจำเลย ซึ่งนอกจากจะขายไม้แล้วยังขายวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ด้วย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ข้อนี้โจทก์จำเลยต่างนำสืบโต้เถียงข้อเท็จจริงกันว่า ในวันเกิดเหตุโรงค้าไม้หยุดทำการค้าหรือไม่ สำหรับพยานโจทก์ที่เบิกความว่าในวันเกิดเหตุโรงค้าไม้เปิดทำการตามปกติคงมีโจทก์ร่วมที่ 1 แต่เพียงคนเดียวศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า วันเกิดเหตุตรงกับวันอาทิตย์ขณะเกิดเหตุก็เป็นเวลา 11.30 นาฬิกา หากโรงค้าไม้ที่เกิดเหตุเปิดทำการจริงเมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองและนายพรเทพเข้าไปในโรงค้าไม้ก็น่าจะพบเห็นเจ้าของหรือผู้มีหน้าที่คอยดูแลตอนรับลูกค้าทันทีการที่โจทก์ร่วมที่ 1 เบิกความว่า เมื่อไปถึงพบคนงานได้สอบถามถึงเถ้าแก่ คนงานบอกว่ารอสักครู่เดี๋ยว ลงมา ประกอบกับนายพรเทพพยานโจทก์ซึ่งเดินทางไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับโจทก์ร่วมทั้งสองก็เบิกความว่า เมื่อเข้าไปในโรงค้าไม้ครั้งแรกพบบิดาจำเลยเพียงคนเดียวกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ และขณะพยานกับพวกพูดคุยกับบิดาจำเลยไม่เห็นมีลูกค้าเข้ามาซื้อของ ส่วนพยานจำเลยนอกจากตัวจำเลยแล้วยังมีบิดาจำเลย นางสาวศิริวรรณ น้องสาวกอบกุล ซึ่งเป็นเพื่อนของน้องชายจำเลยเข้าเบิกความยืนยืนรับรองว่า ในวันเกิดเหตุโรงค้าไม้หยุดดำเนินกิจการ เห็นว่าพยานโจทก์ขัดแย้งกับเหตุผลมีน้ำหนักน้อยจึงเชื่อว่าในวันเกิดเหตุโรงค้าไม้หยุดดำเนินกิจการตามที่จำเลยนำสืบจริงและเมื่อปรากฎว่าโรงค้าไม้ดังกล่าวมีรั้วรอบขอบชิดและนอกจากจะใช้เป็นสถานประกอบการค้าแล้วยังใช้เป็นที่พักอาศัยด้วย ดังนั้นในยามที่โรงค้าไม้หยุดกิจการ ภายในบริเวณโรงค้าไม้ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังย่อมไม่ใช่สาธารณสถานอันเป็นสถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ แต่กลับเป็นที่รโหฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2((13) แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะมีอำนาจจับกุมจำเลยในกรณีที่มีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าจำเลยได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4) ก็ตามแต่กรณีดังกล่าวก็ต้องมิใช่เป็นการจับกุมในที่รโหฐาน เพราะตามมาตรา 81 บัญญัติว่า “จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตามห้ามมิให้จับ(1) ในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน ฯลฯ” ซึ่งพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองที่กระทำไปก็หาต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวไม่ การที่โจทก์ร่วมทั้งสองกับพวกเข้าทำการจับกุมจำเลยในที่รโหฐานจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบทั้งปราศจากอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายโจทก์ร่วมจริงการกระทำของจำเลยก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์