แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพราะไม่ใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยทั้งสองก็ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เต็มจำนวนตามคำพิพากษาเพราะค่าเสียหายดังกล่าวแบ่งแยกไม่ได้และโจทก์ที่ 1 (มารดา) แต่ผู้เดียวก็มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายนั้นโดยลำพังอยู่แล้ว จำเลยทั้งสองหามีสิทธิขอให้ลดค่าเสียหายลงครึ่งหนึ่งไม่
แม้โจทก์มิได้ขอให้เรียกสำนวนคดีอาญามาประกอบการพิจารณาศาลก็รับฟังพยานหลักฐานในสำนวนดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ได้เพราะโจทก์ระบุอ้างสำนวนนั้นในบัญชีพยานแล้ว และได้ชำระค่าธรรมเนียมค่าอ้างเอกสารครบถ้วนเมื่อสำนวนคดีอาญาดังกล่าวอยู่ในศาลชั้นต้นเดียวกันจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นจะเรียกเอามาพิจารณาได้เอง ไม่ต้องให้โจทก์ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้เรียกสำนวนนั้นมารวมไว้ในคดีอีก
ย่อยาว
โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ที่ 2 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 53,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ทั้งสองแต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียน นายนิยม คงสุขธนา ผู้ตายเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสอง ผู้ตายเรียนสำเร็จหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญ แล้วช่วยโจทก์ค้าขาย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2519 เวลา 17 นาฬิกา ผู้ตายขี่รถจักรยานยนต์ไปโรงงานสำปะหลังของโจทก์เพื่อนำเงินไปจ่ายให้คนนำมันสำปะหลังมาขายขณะผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวลงไปในลานมันสำปะหลังในโรงงานก็ถูกรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับชนรถจักรยานยนต์และทับผู้ตายถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานตำรวจสอบสวนแล้วลงความเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิด ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไปแล้ว โจทก์ทำบุญสวดศพนายนิยม คงสุขธนา ที่วัดประชานิมิตร 3 วัน เสียค่าใช้จ่ายไป15,000 บาท ทำที่ฝังศพ หีบศพ และค่าเลี้ยงแขก ค่าไฟและค่าน้ำรวมเป็นเงิน 10,000 บาท ทำบุญ 100 วัน สิ้นค่าใช้จ่ายรวม 10,000 บาท ค่าขาดแรงงานจากผู้ตายโดยจ้างลูกจ้างทำงานแทนผู้ตายเดือนละ 300 บาท รวม10 ปี เป็นเงิน 36,000 บาท
จำเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2519จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียนช.ย.00339 ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล่นไปตามถนนนิเวศน์รัตน์มุ่งไปจังหวัดชัยภูมิ ครั้นถึงหลักกิโลเมตรที่ 49 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวชนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นายนิยม คงสุขธนาขับแล่นอยู่ข้างหน้าเป็นเหตุให้นายนิยม คงสุขธนา ถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่สืบสวนสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 3 ศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้คนอื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 3 ศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ศาลดังกล่าวพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ตามที่พนักงานอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 3ศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) โจทก์ฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9/2520 หมายเลขแดงที่ 24/520 ปัญหามีว่า จำเลยที่ 1ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนท้ายรถจักรยานยนต์ที่นายนิยม คงสุขธนาขับเป็นเหตุให้นายนิยม คงสุขธนา ถึงแก่ความตาย อันจะทำให้จำเลยที่ 2รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 หรือไม่ และโจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด
ปัญหาแรกนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารแซงรถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์คนอื่นพ้นแล้วไม่ลดความเร็วและบังคับรถยนต์เข้าในเส้นทางเดินรถของตน กลับใช้ความเร็วพุ่งเข้าชนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับอันเป็นการขับรถยนต์โดยประมาท และได้ความจากคำของโจทก์ที่ 1 ว่า ในวันเกิดเหตุนายนิยมผู้ตายขับรถจักรยานยนต์นำเงินไปจ่ายให้คนที่นำมันสำปะหลังมาขายที่โรงงานของโจทก์ ในขณะจะเลี้ยวเข้าลานมันสำปะหลังในโรงงานถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ขับชนตาย เจ้าพนักงานตำรวจสอบสวนแล้วลงความเห็นว่า จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิด ต่อมามีการฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ไปแล้ว นอกจากนี้โจทก์ได้อ้างสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9/2520และหมายเลขแดงที่ 24/2520 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 3 ศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) เป็นพยาน ตามบัญชีพยานลงวันที่ 7 ธันวาคม2520 อันดับ 3 ประกอบคดีของโจทก์ที่ 1 ฝ่ายจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ประมาทเอง จำเลยที่ 1 หาได้ขับรถยนต์โดยประมาทไม่ แต่จำเลยที่ 2 มิได้นำพยานมาสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ทำให้นายนิยม คงสุขธนา ถึงแก่ความตายอันเป็นการละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจึงต้องรับกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1
ปัญหาค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้รวม 53,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 สูงเกินไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองมิได้สืบพยานหักล้างข้อนำสืบของโจทก์ในประเด็นข้อนี้แต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 รวม53,000 บาท นับว่าเหมาะสมกับรูปคดีแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้รวม 53,000 บาทแล้วแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ยังคงต้องผูกพันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เต็มจำนวนตามคำพิพากษาอยู่นั่นเอง เพราะค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแบ่งแยกไม่ได้ และโจทก์ที่ 1 แต่ผู้เดียวก็มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายนั้นได้โดยลำพังอยู่แล้ว จำเลยทั้งสองหามีสิทธิขอให้ลดค่าเสียหายลงครึ่งหนึ่งดังจำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ขอให้เรียกสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 24/2520 มาประกอบการพิจารณา ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ไม่ได้นั้นศาลฎีกาพิจารณาแล้วปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ระบุอ้างสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9/2520 หมายเลขแดงที่ 24/2520 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 3 ศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) ตามบัญชีพยานลงวันที่ 7ธันวาคม 2520 และโจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าธรรมเนียมค่าอ้างเอกสารไว้ครบถ้วนแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อสำนวนคดีอาญาดังกล่าวอยู่ในศาลชั้นต้นเดียวกัน จึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นจะเรียกเอามาพิจารณาได้เอง ไม่จำต้องให้โจทก์ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้เรียกสำนวนนั้นมารวมไว้ในคดีอีก ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นนำเอาสำนวนคดีอาญาดังกล่าวที่โจทก์อ้างไว้แล้วมาประกอบการวินิจฉัย จึงเป็นการชอบ”
พิพากษายืน