แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 8 ที่ระบุว่า ‘ผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าปรับอันเนื่องจากเหตุแห่งความล่าช้าจาก กำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 3 (168 วัน) โดยคิดตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดกับอัตราค่าปรับที่โรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย คิดปรับจากผู้ว่าจ้าง’ นั้นหมายความว่า โจทก์ยินยอมรับผิดชอบค่าปรับตามอัตราค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 3 มิใช่โจทก์ยินยอมเสียค่าปรับตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าจำนวนหนึ่ง กับค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยอีกจำนวนหนึ่ง
ค่าปรับก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดจำนวนกันไว้ล่วงหน้า เมื่อกำหนดค่าปรับกันแล้วก็ไม่สมควรที่จะให้ได้รับค่าเสียหายจากกันอีก ในกรณีค่าปรับกับค่าเสียหายใกล้เคียงกันศาลกำหนดให้จำเลยได้รับค่าเสียหายเท่ากับค่าปรับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทำเสาเข็มเจาะ ณ หน่วยก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย คิดเป็นเงิน ๑๒,๗๗๘,๐๐๐ บาท เพื่อจำเลยจะได้ทำการก่อสร้างตัวอาคารตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและต่อเติมอาคารในบริเวณโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับจำเลยโจทก์ได้ส่งมอบผลงานให้จำเลยได้รับไปทั้งหมดแล้ว แต่จำเลยชำระเงินให้ไม่ครบทั้ง ๆ ที่จำเลยได้นำผลงานของโจทก์เสนอต่อโรงพิมพ์ธนบัตร เมื่อขอเบิกเงินและได้รับเงินมาแล้ว จำเลยคงค้างชำระรวม ๖,๐๓๑,๘๔๔ บาท ๗๕ สตางค์ นอกจากนั้นจำเลยยังได้จ้างโจทก์ทำเสาเข็มตอกเพิ่มนอกเหนือสัญญาอีก โจทก์ทำให้และส่งมอบให้จำเลยแล้วเป็นเงิน ๔๑,๙๒๐ บาท จำเลยก็ยังไม่ชำระ จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์รวม ๖,๐๗๓,๗๖๔ บาท ๗๕ สตางค์ เมื่อคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๒๓ ถึงวันฟ้อง ๓๒๔ วัน เป็นดอกเบี้ย ๔๐๔,๓๖๒ บาท ๙๖ สตางค์ รวมกับต้นเงินแล้วจำเลยค้างชำระ ๖,๔๗๘,๑๒๗ บาท๗๑ สตางค์ ขอให้จำเลยชำระเงิน ๖,๔๗๘,๑๒๗ บาท ๗๑ สตางค์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๖,๐๗๓,๗๖๔ บาท ๗๕ สตางค์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและต่อเติมอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในราคา ๗๒,๗๔๔,๐๐๐ บาทโจทก์ได้ทำสัญญารับจ้างเหมาทำเสาเข็มเจาะให้จำเลยโดยโจทก์ยินยอมที่จะผูกพันตามเงื่อนไขแห่งสัญญาจ้างที่จำเลยได้ทำไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์มีหน้าที่จะต้องทำเสาเข็มเจาะให้เสร็จภายใน ๑๖๘ วัน หากไม่เสร็จโจทก์ยอมให้จำเลยปรับได้ โดยคิดตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากกำหนดกับอัตราค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลย โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยช้ากว่ากำหนด ๑๗๔ วัน จำเลยจึงกันเงินค่าทำเสาเข็มเจาะและค่าทำเสาเข็มตอกเพิ่มมาชำระค่าปรับและค่าเสียหายตามเงื่อนไขแห่งสัญญา นอกจากนี้โจทก์ยังทำให้จำเลยเสียหายอีกมาก แต่โจทก์ขอคิดเพียง ๑๔,๘๓๑,๑๖๔ บาท๕๙ สตางค์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย ๑๔,๘๓๑,๑๖๔ บาท ๕๙ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและต่อเติมอาคารในบริเวณโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยโจทก์ไม่ได้ร่วมลงนามเป็นคู่สัญญาจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลย และตามเงื่อนไขแห่งสัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุว่า โจทก์จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลย ในการส่งมอบงานของโจทก์นั้น จำเลยได้รับมอบงานโดยมิได้อิดเอื้อนโต้แย้งในเรื่องความล่าช้า จำเลยจะยกขึ้นมาว่ากล่าวอีกไม่ได้ จำเลยไม่อาจเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑,๒๑๐,๔๓๘ บาท ๔๕ สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เดือนมกราคม ๒๕๒๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน ๔,๔๙๕,๑๗๑ บาท ๓๐ สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ค่าขึ้นศาลใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ในปัญหาว่าโจทก์ทำงานเสร็จช้าไปกว่ากำหนดตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างโจทก์จำเลยกี่วัน ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องเริ่มทำงานให้จำเลยตามสัญญา วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ หาใช่วันที่โจทก์จำเลยทำสัญญากันคือวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๑ ไม่ เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าโจทก์ทำงานเสร็จวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๒๒ จึงช้ากว่ากำหนดตามสัญญา ๙๑ วัน แต่ตามสัญญาโจทก์มีสิทธิหักวันที่โจทก์ไม่สามารถที่จะทำงานเพราะมีอุปสรรคตามสัญญาออกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองหักวันที่เป็นอุปสรรคในการทำงานให้โจทก์ เนื่องมาจากคนทำงานต้องพบอุปสรรคใต้ดิน ฝนตกน้ำท่วมและขาดแคลนปูนซีเมนต์รวม ๑๑ วัน โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งในปัญหานี้ จึงถือว่า โจทก์ทำงานล่าช้าไปกว่าที่ทำสัญญาไว้กับจำเลยเพียง ๘๐ วัน
ในปัญหาที่ว่าโจทก์หรือจำเลยจะต้องเป็นผู้ชดใช้เงินให้แก่อีกฝ่ายหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อฟังว่าโจทก์ทำงานเสร็จช้ากว่ากำหนดตามสัญญา เป็นฝ่ายผิดสัญญา งานที่โจทก์รับทำเป็นงานฐานรากของอาคารที่จำเลยรับจ้างทำจากธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยย่อมเริ่มทำงานต่อไปตามกำหนดเวลาไม่ได้ ซึ่งปรากฏว่าจำเลยก่อสร้างอาคารไม่เสร็จตามกำหนดเวลาที่สัญญาไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกันเป็นเหตุให้จำเลยถูกปรับตามสัญญา จำเลยย่อมได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ทำงานล่าช้าอย่างแน่นอน แต่จะเสียหายเพียงใดนั้น ตามสัญญาจ้างเหมาทำเสาเข็มเจาะระหว่างโจทก์จำเลยข้อ ๘ ที่ระบุว่า”ผู้รับจ้างยินยอมรับผิดชอบค่าปรับอันเนื่องจากเหตุแห่งความล่าช้าจากกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ (๑๖๘ วัน) โดยคิดตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดกับอัตราค่าปรับที่โรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากผู้ว่าจ้าง” นั้น ย่อมหมายความว่า โจทก์ยินยอมรับผิดชอบค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลย ตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ ๓ หาใช่โจทก์ยินยอมเสียค่าปรับตามส่วนของงานและเวลาที่ล่าช้าจำนวนหนึ่งกับค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็น ๒ จำนวนดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะตามข้อสัญญาดังกล่าวมีคำว่า “กับอัตราค่าปรับ” อยู่ในระหว่างข้อความต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้เห็นว่าค่าปรับให้คิดตามอัตราค่าปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากจำเลยการที่สัญญาใช้คำว่า “กับ” อันทำให้เข้าใจไปว่า ค่าปรับมี ๒ จำนวน น่าจะไม่ใช่เป็นความประสงค์แต่แรกขณะทำสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย คงเป็นเรื่องใช้คำผิดและถ้าจะให้ความหมายของข้อความที่ต่อจากคำว่ากับมีความหมายว่าเป็นค่าปรับอีกจำนวนหนึ่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “อัตรา” อยู่หน้าค่าปรับ ควรใช้คำว่า “กับ”ค่าปรับที่โรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยคิดปรับจากผู้ว่าจ้าง” ก็ได้ความชัดเจนอยู่แล้ว เนื่องจากการคิดอัตราค่าปรับระหว่างจำเลยกับธนาคารแห่งประเทศไทยกรณีผิดสัญญาเป็นที่ทราบกันอยู่ระหว่างจำเลยกับธนาคารฯ ไม่จำต้องระบุคำว่า”อัตรา” ซ้ำอีก ที่ระบุเช่นนั้นเป็นการเท้าความให้โจทก์ทราบว่าการคิดค่าปรับให้คิดตามหลักเกณฑ์อันเดียวกับที่ธนาคาร ฯ คิดกับจำเลย ดังนั้นค่าปรับตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงคิดได้เพียงจำนวนเดียว โดยอาศัยหลักเกณฑ์การคิดค่าปรับที่ธนาคาร ฯ คิดเอากับจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา
ในปัญหาจำนวนค่าเสียหายของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าเสียหายต่าง ๆ ตามที่จำเลยนำสืบมารวมกันแล้วคิดเป็นเงินราว ๔๓๐,๐๐๐ บาท นับว่าเป็นจำนวนใกล้เคียงจำนวนค่าปรับที่โจทก์จะต้องชดใช้ให้แก่จำเลย ดังนั้น เมื่อค่าปรับก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดจำนวนกันไว้ล่วงหน้า เมื่อกำหนดค่าปรับกันแล้วก็ไม่สมควรที่จะให้ได้รับค่าเสียหายจากกันอีก และกรณีนี้ค่าปรับกับค่าเสียหายใกล้เคียงกันดังกล่าวแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยได้รับค่าเสียหายเท่ากับค่าปรับเป็นเงิน ๔๒๑,๔๐๖ บาท ๕๕ สตางค์ เมื่อจำเลยรับอยู่ว่าได้ยึดถือเงินค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะ ๖,๐๓๑,๘๔๔ บาท ๗๕ สตางค์กับค่าทำเสาเข็มตอกเพิ่มขึ้นอีก ๔๑,๙๒๐ บาท ของโจทก์ไว้ เงินสองจำนวนนี้จำเลยจึงต้องคืนให้โจทก์ แต่เมื่อหักกลบลบหนี้กันกับจำนวนที่โจทก์จะต้องชดใช้แก่จำเลยแล้วคงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ ๕,๖๕๒,๓๕๘ บาท ๒๐ สตางค์ สำหรับดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น นายวัชระ จิรังบุญกุล พยานจำเลยเบิกความรับว่าโจทก์เคยทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะตามเอกสารหมาย ล.๓๓ ถึง ล.๓๕ ซึ่งตามเอกสารหมาย ล.๓๕ เป็นการทวงถามเฉพาะค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๒ และให้ชำระค่าจ้างในเดือนมกราคม ๒๕๒๓ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าดอกเบี้ยในต้นเงินค่าจ้างทำเสาเข็มเจาะตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๓ จำนวนหนึ่ง และดอกเบี้ยในต้นเงินค่าจ้างทำเสาเข็มเพิ่มเติมตั้งแต่วันฟ้องอีกจำนวนหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๕,๖๕๒,๓๕๘ บาท ๒๐ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๕,๖๑๐,๔๓๘ บาท ๒๐ สตางค์ นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๓ และของต้นเงิน ๔๑,๙๒๐ บาท นับแต่วันฟ้องคือวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลคิดเพียงเท่าที่โจทก์ชนะโดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์