แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ ร.ในข้อความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คต่อมาผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากผู้เสียหายตกลงรับเช็คจาก จ. และให้ร.ทำสัญญากู้ยืมโดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันกับนำโฉนดที่ดินมาให้ผู้เสียหายยึดถือไว้ การเอาโฉนดที่ดินมาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ตามสัญญากู้ มิใช่หนี้ที่มีประกันตามกฎหมายแม้ว่าในที่ดินจะไม่มีสิ่งปลูกสร้างก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสียหายเสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้ การร้องทุกข์ก็เป็นเพียงคำบอกกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายพอใจตามข้อตกลงโดยถอนคำร้องทุกข์และยอมรับชำระหนี้เป็นเช็คฉบับใหม่กับทำสัญญากู้ยืมกันไว้และมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ในทางแพ่งของผู้เสียหายก็ยังคงมีอยู่ตามเช็คและสัญญากู้ยืมดังกล่าว มิใช่เป็นการเพิกถอนเช็คหรือทำให้หนี้หมดไปผู้เสียหายเพียงเสียสิทธิตามคำร้องทุกข์เท่านั้น ทั้งคำร้องทุกข์ก็มิใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)ไม่ว่าจำเลยจะมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายให้ถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงนายนิ่มย้ง แซ่เตีย ผู้เสียหายให้เพิกถอนเช็คที่พวกจำเลยถูกผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนไว้ โดยจำเลยกับพวกจะได้ทำสัญญากู้และนำโฉนดที่ดินเลขที่ 34657 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นหลักประกัน และโดยหลอกลวงของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า มีสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวจริง จึงได้รับสัญญากู้และโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ แล้วได้ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งความจริงแล้วที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 300,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำคุก 1 ปี คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายกับนายวิโรจน์ สุขพรสินชัย รู้จักกันมานาน ผู้เสียหายเคยว่าจ้างนายวิโรจน์ก่อสร้างบ้านและเคยออกเงินลงทุนให้ ทั้งให้นายวิโรจน์กู้ยืมเงินหลายครั้งโดยนายวิโรจน์ออกเช็คให้ เมื่อมีเงินมาชำระผู้เสียหายก็จะคืนเช็คให้ไปซึ่งก็ฟังได้เจือสมกันกับพยานจำเลยที่ว่า ผู้เสียหายและนายวิโรจน์เคยร่วมลงทุนรับเหมาก่อสร้างด้วยการกู้ยืมเงินและออกเช็คจนเกิดเหตุโดยนายวิโรจน์ถูกจับกุมตามคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายและต่อมามีการตกลงทำสัญญากู้และค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 และผู้เสียหายได้ยอมถอนคำร้องทุกข์ในการดำเนินคดีแก่นายวิโรจน์นั้นก็ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยนายธวัช อังคณาวิน นายวิบูลย์หรือง้วน สุขพรสินชัย และนายสมชาย โชคสัมฤทธิ์ผล พยานจำเลยว่าก่อนทำเอกสารหมาย จ.2 ได้มีการไกล่เกลี่ยกันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอขลุงแล้วจนผู้เสียหายตกลงและยินยอมถอนคำร้องทุกข์ในวันเดียวกันซึ่งผู้เสียหายก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ ต่อเมื่อนายวิโรจน์ไม่ชำระเงินตามสัญญากู้จึงมีการดำเนินคดีนี้อ้างว่าจำเลยร่วมกับพวกหลอกลวงว่าที่ดินตามโฉนดที่นำมาให้ผู้เสียหายยึดถือไว้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 มีสิ่งปลูกสร้างด้วย แต่ความจริงไม่มี ทำให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ เห็นว่าการเอาโฉนดที่ดินมาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ตามสัญญากู้ มิใช่หนี้ที่มีประกันตามกฎหมาย ฉะนั้นแม้ว่าในที่ดินโฉนดแปลงที่นำมาให้ผู้เสียหายยึดถือไว้จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสียหายเสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้แต่อย่างใดและการร้องทุกข์ซึ่งเป็นเพียงคำบอกกล่าวแก่พนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายพอใจตามข้อตกลงโดยถอนคำร้องทุกข์และยอมรับชำระหนี้เป็นเช็คฉบับใหม่กับทำสัญญากู้ยืมกันไว้และมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ในทางแพ่งของผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ตามเช็คและสัญญากู้ยืมดังกล่าวและตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ก็ปรากฏชัดว่า การที่ผู้เสียหายตกลงรับเช็คจากนายวิบูลย์หรือง้วนและให้นายวิโรจน์ทำสัญญากู้ยืมโดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ก็โดยประสงค์จะได้รับชำระหนี้ซึ่งนายวิโรจน์เป็นหนี้อยู่ตามเช็คฉบับเดิมนั่นเอง มิใช่เป็นการเพิกถอนเช็คหรือทำให้หนี้หมดไปแต่อย่างใด ผู้เสียหายเพียงเสียสิทธิตามคำร้องทุกข์เท่านั้น คำร้องทุกข์มิใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายให้ถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิอันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องได้นั้นเป็นการวินิจฉัยตรงประเด็นแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน