แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งนั้นเป็นความเท็จแต่มิได้เป็นข้อสำคัญในคดี พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แจ้งชัดว่าจำเลยเบิกความเท็จ มีความเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน ดังนี้กรณีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่อย่างใด และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 อีกเช่นกัน การพิจารณาคดีอาญาของศาลอุทธรณ์ไม่จำกัดอยู่เพียงในปัญหาที่คู่ความอุทธรณ์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะหยิบยกพยานหลักฐานข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายทั้งปวงที่ปรากฏในสำนวนขึ้นวินิจฉัยได้ทั้งสิ้น เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แจ้งชัดว่าจำเลยกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง ก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้นและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ซึ่งมาตรา 215 ให้นำมาใช้บังคับ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เพราะย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีอย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา177, 180, 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 9783/2523 ของศาลแพ่งดังที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นความเท็จแต่มิได้เป็นข้อสำคัญในคดี และจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีดังกล่าวแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความในคดีดังที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แจ้งชัดว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จดังที่โจทก์ฟ้อง มีความเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นพิพากษายืน โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความดังที่โจทก์ฟ้องเป็นความเท็จ และจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยอีกเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ จึงขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 และมาตรา 220 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า กรณีไม่ต้องตามมาตรา 218 ดังกล่าว เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่อย่างใด และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จมิได้เป็นข้อสำคัญในคดีนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ดังกล่าวเช่นกัน โจทก์มีสิทธิฎีกาได้
ในปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า การวินิจฉัยคดีของศาลอุทธรณ์เป็นการชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ซึ่งตามมาตรา 215 ให้นำมาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยนั้นบัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี…ให้ศาลยกฟ้องโจทก์…” ดังนั้นในการพิจารณาคดีอาญาของศาลอุทธรณ์จึงไม่จำกัดอยู่เพียงในปัญหาที่คู่ความอุทธรณ์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะหยิบยกพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายทั้งปวงที่ปรากฏในสำนวนขึ้นวินิจฉัยได้ทั้งสิ้น คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แจ้งชัดว่า จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จดังที่โจทก์ฟ้องก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีไปตามนั้น และพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสองเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เพราะย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีอย่างใด การพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการชอบแล้ว …ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ชัดว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองดังกล่าวนั้นเป็นความเท็จ เช่นนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าข้อความเหล่านั้นเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน