คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5118/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 98 เม็ด (หน่วยการใช้) โดย 8 เม็ด (หน่วยการใช้) น้ำหนักสุทธิ 0.71 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์จำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัดและ 90 เม็ด (หน่วยการใช้) น้ำหนักสุทธิ 7.99 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.206 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (ข) วันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 8 เม็ด (หน่วยการใช้) ดังกล่าวให้แก่ ช. ในราคา 1,600 บาทและ (ค) วันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 90 เม็ด (หน่วยการใช้) ดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 18,000 บาท ดังนี้ฟ้องโจทก์แสดงโดยชัดเจนแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดสามกรรมต่างวาระกัน ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง เท่ากับจำเลยยอมรับแล้วว่า ได้กระทำความผิดสามกรรมต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 ครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด 2 กรรม ซึ่งความผิดแต่ละกรรมเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้บทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 98 เม็ด และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 8 เม็ด ในกรรมแรกให้ลงโทษฐานร่วมกันเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 600,000 บาท ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่เหลืออีก 90 เม็ด ในกรรมที่สองมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 600,000 บาท รวมจำคุกคนละ 12 ปี และปรับคนละ 1,200,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 600,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 400,000 บาท และความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 400,000 บาท รวมปรับคนละ 800,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับคนละ 400,000 บาท ส่วนโทษจำคุกและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสามกรรมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 98 เม็ด (หน่วยการใช้) โดย 8 เม็ด (หน่วยการใช้) น้ำหนักสุทธิ 0.71 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์จำนวนเท่าใดไม่ปรากฏชัด และ 90 เม็ด (หน่วยการใช้) น้ำหนักสุทธิ 7.99 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.206 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (ข) วันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 8 เม็ด (หน่วยการใช้) ให้แก่นางสาวอัจฉราในราคา 1,600 บาท และ (ค) วันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 90 เม็ด (หน่วยการใช้) ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 18,000 บาท ฟ้องโจทก์แสดงโดยชัดเจนแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดสามกรรมต่างวาระกัน ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง เท่ากับจำเลยยอมรับแล้วว่า ได้กระทำความผิดสามกรรมต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสองกรรม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 98 เม็ด จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 8 เม็ด จำคุกคนละ 4 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพี่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 90 เม็ด มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท รวมจำคุกคนละ 16 ปี และปรับคนละ 800,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 8 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share