คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะอ้างว่าได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดพระนครแล้วก่อนโจทก์ฟ้อง 8 วันก็ดี หากมีหลักฐานแสดงอยู่ว่าจำเลยยังคงมีบ้านและถิ่นที่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ดังเดิม ด้วย ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่สองแห่ง คือ ทั้งที่เชียงใหม่ และจังหวัดพระนคร ซึ่งโจทก์ย่อมถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยและยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงเชียงใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทที่ ๑,๒ ตกลงขายไก่พร้อมด้วยอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ให้โจทก์ราคา ๗,๐๐๐ บาท รับเงินไปแล้ว ๒,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงตกลงเลิกและขอเงินคืน จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงริบเงินมัดจำ ๒,๐๐๐ บาทเสีย และตัดฟ้องว่า วันที่โจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยที่ ๑ มิได้มีภูมิลำเนาอยู่บ้านช่วงสิงห์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่ได้ย้ายสำมะโนครัวออกไปตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๒ ไปอยู่บ้านเลขที่ ๔/๑ ซอยออมสินสถิตย์ ตำบลลาดยาว อำเภอบบางเขน จังหวัดพระนคร และจำเลยที่ ๒ก็ได้ย้ายออกไปถือภูมิลำเนาตามจำเลยที่ ๑ สามีก่อนวันฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔(๒) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อตัดฟ้องของจำเลยฟังไม่ขึ้น และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยรับเงิน ๒,๐๐๐ บาท เป็นการชำระหนี้บางส่วน โจทก์ไม่ผิดสัญญา และได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดเงินของโจทก์ได้ พิพากษาให้คืน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเกี่ยวด้วยทรัพย์ตามมาตรา ๔(๑) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะมูลกรณีพิพาทเกี่ยวด้วยทรัพย์ที่ซื้อขายกัน ศาลต้องพิจารณาถึงการซื้อขายทรัพย์นั้นก่อน จึงจะชี้ขาดเรื่องคืนเงิน ปรากฎว่าทรัพย์ที่ซื้อขายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยทรัพย์ ต้องบังคับตามมาตรา ๔(๒) คือต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะนั้น โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงเชียงใหม่ โดยมิได้ยื่นคำขอเป็นคำร้องให้ศาลใช้ดุลยพินิจอนุญาตตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องผิดเขตอำนาจศาล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยไปตามสัญญาซื้อขายคืนมิใช่เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์ที่ซื้อขายกันนั้นแต่อย่างใด กรณีไม่เข้าตามบทบัญญัติมาตรา ๔(๑) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เป็นคำฟ้องที่ต้องบังคับตามมาตรา ๔(๒) ฎีกาจำเลยฟังขึ้น แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๒ โดยระบุในฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอยู่บ้านเลขที่ ๘ ถนนโชตนา ข้างวัดช่วงสิงห์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ว่าได้นำหมายเรียกและสำเนาฟ้องไปส่งแก่จำเลยทั้งสอง ณ ตำบลที่อยู่ที่กล่าวในฟ้อง ไม่พบจำเลย สอบถามนายดีคนรับจ้างในบ้านจำเลยได้ความว่า จำเลยไปธุระชั่วคราว ที่กรุงเทพฯ ไม่มีใครยอมรับหมายไว้แทนจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งอีกครั้ง ถ้าส่งไม่ได้ให้ปิดหมาย เจ้าหน้าที่ไปไม่พบจำเลย สอบถามลูกจ้างในบ้านอำเภอได้ความว่า จำเลยไปธุระที่กรุงเทพ ฯ ๑๐ กว่าวันแล้ว ไม่ทราบเวลากลับ ไม่ยอมรับหมายแทน เจ้าหน้าที่จึงปิดหมายไว้ (ตามรายงานเจ้าหน้าที่ วันที่ ๘ มิถุนายน ) ต่อมาวันที่ ๒๒ มิถุนายน จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองยังคงมีถิ่นที่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ตำบลที่อยู่ที่โจทก์ระบุไว้ในฟ้องนั่นเอง แม้จำเลยจะได้อ้างสำเนาใบแจ้งการย้ายออกเพื่อแสดงว่า จำเลยได้ย้ายจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ ๔/๑ ถนนพหลโยธิน ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ก็ปรากฎว่าเพิ่งไปแจ้งการย้ายเมื่อ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๒ เป็นเวลาก่อนโจทก์ฟ้องเพียง ๘ วันเท่านั้น ปรากฎตามคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๐๒ ว่า ขณะยื่นฟ้องนั้น โจทก์มิได้ทราบเลยว่าจำเลยไปมีที่อยู่ในจังหวัดพระนคร ประกอบกับรายงานเจ้าหน้าที่ทั้งสองฉบับดังกล่าวก็แสดงอยู่ว่า ขณะนั้น จำเลยยังมีบ้านและถิ่นที่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ดังเดิม เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยมีถิ่นที่อยู่สองแห่ง คือ ทั้งที่เชียงใหม่และจังหวัดพระนคร ซึ่งโจทก์ย่อมถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยได้ตามมาตรา ๔๕ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น โจทก์ย่อมยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแขวงเชียงใหม่ได้ ตามมาตรา ๔(๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share