แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของ พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 ไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจจำเลยตาม พ.ร.บ. มาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31 กับฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตาม ป.อ. มาตรา 270 ฐานใช้เครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของ พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 ในกิจการ ต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลยตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31 กับฐานใช้เครื่องชั่ง ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตาม ป.อ. มาตรา 270 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ความผิดฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าและฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อ เอาเปรียบในการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตาม ป.อ. มาตรา 90 กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานลดเครื่องชั่งซึ่งเจ้าพนักงานตรวจสอบให้คำรับรองแล้วตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสอง ปรับบทลงโทษจำเลยไม่ครบถ้วน และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้เครื่องชั่ง ซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ ทุกประการฯ ว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 32 วรรคสอง อันเป็นบทลงโทษผู้ใช้เครื่องชั่งโดยรู้อยู่ว่าเป็นเครื่องชั่งที่ถูกแก้เปลี่ยน และมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลดเครื่องชั่งซึ่ง เจ้าพนักงานตรวจสอบให้คำรับรองแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ปรับลงโทษและพิพากษาให้ถูกต้องได้ ส่วนโทษที่ลงแก่จำเลยคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะต้องห้ามเพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ให้ยกเลิก พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัดเดิมทุกฉบับ ซึ่งตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติความผิดฐานใช้หรือมีเครื่องชั่งโดยรู้ว่าเครื่องชั่งนั้นมีความเที่ยงผิดอัตราไว้ในมาตรา 79 ฐานกระทำการใด ๆ เพื่อให้เครื่องชั่งที่มีการให้คำรับรองแล้วแสดงน้ำหนักผิดไปจากที่ได้รับการตรวจสอบความเที่ยงไว้ในมาตรา 75 และมีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตาม พ.ร.บ. มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31 และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑, ๓๒, ๓๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑, ๒๗๐ ริบของกลาง กับจ่ายสินบนแก่ผู้จับและผู้นำความมาแจ้งต่อ เจ้าพนักงานให้จับกุมจำเลยด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑, ๓๒, ๓๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑, ๒๗๐ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษฐานมีเครื่องชั่งไม่ถูกวัตถุประสงค์ จำคุก ๑ ปี ฐานใช้เครื่องชั่งผิดอัตราและใช้เครื่องชั่งเพื่อเอาเปรียบทางการค้า จำคุก ๒ ปี รวมจำคุก ๓ ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ริบของกลาง คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีและใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๒ วรรคสอง ซึ่งมีอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดฐานมีเครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ ไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจ ของจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ กับฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อ เอาเปรียบในการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ ฐานใช้เครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ กับฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ความผิดฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า และฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานลดเครื่องชั่งซึ่งเจ้าพนักงานตรวจสอบให้คำรับรองแล้วตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองปรับบท ลงโทษจำเลยไม่ครบถ้วน กับพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้เครื่องชั่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการฯ ว่า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๒ วรรคสอง อันเป็นบทลงโทษผู้ใช้เครื่องชั่งโดยรู้อยู่ว่าเป็นเครื่องชั่งที่ถูกแก้เปลี่ยนและมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลดเครื่องชั่งซึ่งเจ้าพนักงาน ตรวจสอบให้คำรับรองแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกา ก็ปรับบทลงโทษและพิพากษาให้ถูกต้องได้ ส่วนโทษที่ลงแก่จำเลยคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เพราะต้องห้ามเพิ่มเติมโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับ ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด เดิมทุกฉบับ ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติความผิดฐานใช้หรือมีเครื่องชั่งโดยรู้ว่าเครื่องชั่งนั้นมีความเที่ยงผิดอัตราไว้ในมาตรา ๗๙ ฐานกระทำการใด ๆ เพื่อให้เครื่องชั่งที่มีการให้คำรับรองแล้วแสดงน้ำหนักผิดไปจากที่ได้รับการตรวจสอบความเที่ยงไว้ในมาตรา ๗๕ และมีระวางโทษเป็นคุณกว่าโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้กฎหมาย ที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ วรรคหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ .