คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากแก่ผู้ฝากจะนำทรัพย์ออกใช้สอยหรือมอบให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฝากหาได้ไม่ในการฝากข้าวซึ่งเป็นสังกมะทรัพย์นั้นถ้าผู้รับฝากยักยอกเอาข้าวไปโดยทุจริตไม่สามารถส่งคืนข้าวที่รับฝากไว้ให้แก่ผู้ฝากได้ผู้รับฝากอาจต้องส่งคืนข้าวชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ฝากก็เป็นเรื่องของการชำระหนี้ในทางแพ่งเท่านั้นหามีผลให้ผู้รับฝากพ้นความรับผิดฐานยักยอกในทางอาญาไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่1ยักยอกข้าวขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกรโดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือศาลอุทธรณ์ย่อมลงโทษจำเลยที่2ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้แม้ว่าจะมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่1ด้วยเพราะว่าคดีสำหรับจำเลยที่1ได้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ความผิดฐานยักยอกตามป.อ.กับความผิดฐานยักย้ายข้าวจากสถานที่เก็บโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.การค้าข้าวเป็นความผิดที่มีองค์ประกอบต่างกันและเป็นอิสระจากกันการกระทำกรรมเดียวอาจเป็นความผิดทั้งสองฐานได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการยักย้ายข้าวซึ่งเป็นความผิดฐานยักยอกนั้นจำเลยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามพ.ร.บ.การค้าข้าวจำเลยก็มีความผิดตามพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเอาข้าวเปลือกที่ได้รับมอบการครอบครองจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรไปเป็นของจำเลยและบุคคลที่ 3 และได้ยักย้ายข้าวเปลือกดังกล่าวจากสถานที่เก็บภายในเขตควบคุมการค้าข้าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ซึ่งตั้งขึ้นตามความในพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 จำเลยที่ 2 กับพวกที่หลบหนีอีกหลายคนได้ร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือให้ความสะดวกทั้งก่อนและขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83, 86 พระราชบัญญัติการค้าข้าวพ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8, 17 พระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2489 มาตรา 4, 10 ให้จำเลยร่วมกันคืนข้าวเปลือกหรือใช้ราคาเป็นเงิน 986,246 บาท แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489มาตรา 7, 8, 17 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 335 ประกอบด้วยมาตรา 83 ซึ่งมีโทษหนักที่สุด ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 86 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานยักย้ายข้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “…จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าข้าวเปลือกเป็นสังกมะทรัพย์ผู้รับฝากอาจใช้ของชนิดเดียวกัน คุณภาพเดียวกันแทนได้ผู้รับฝากจึงไม่อาจมีความผิดฐานยักยอกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าผู้รับฝากมีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากแก่ผู้ฝาก ผู้รับฝากจะนำทรัพย์ออกใช้สอยหรือมอบให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฝากหาได้ไม่ กรณีนี้มิใช่เป็นการฝากเงิน ซึ่งผู้รับฝากไม่จำเป็นต้องส่งคืนเงินอันเดียวกันกับที่รับฝากไว้ จริงอยู่การฝากข้าวซึ่งเป็นสังกมะทรัพย์นั้น หากผู้รับฝากยักยอกเอาข้าวไปโดยทุจริต ไม่สามารถส่งคืนข้าวที่รับฝากไว้ให้แก่ผู้ฝากได้ผู้รับฝากอาจต้องส่งคืนข้าวชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ฝากซึ่งก็เป็นเรื่องของการชำระหนี้ในทางแพ่งเท่านั้น หามีผลให้ผู้รับฝากพ้นความรับผิด ฐานยักยอกในทางอาญาไม่
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิด ไม่มีตัวการ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจรับผิดในฐานะผู้สนับสนุนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกข้าวขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกรโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ศาลอุทธรณ์ย่อมลงโทษจำเลยที่ 2ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเท่านั้น หาใช่ว่าไม่มีตัวการกระทำผิดดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ต้องมีความผิดฐานยักย้ายข้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติการค้าข้าวพุทธศักราช 2489 ด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ช่วยจำเลยที่ 1 ยักย้ายข้าวก็เพื่อกระทำผิดฐานยักยอก จำเลยที่ 2 จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว โจทก์ฎีกาความว่า พระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489 เป็นกฎหมายพิเศษบทบังคับที่ห้ามยักย้ายข้าวเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นเป็นบทบังคับเด็ดขาด หากปล่อยให้มีข้อยกเว้นว่ากรณีเช่นคดีนี้ไม่ต้องขออนุญาตก็จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงโดยปัดความรับผิดไปให้โจรผู้ร้ายได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญากับความผิดฐานยักย้ายข้าวจากสถานที่เก็บโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489 เป็นความผิดที่มีองค์ประกอบต่างกัน และเป็นอิสระจากกัน การกระทำกรรมเดียวอาจเป็นความผิดทั้งสองฐานได้ มิใช่เป็นกรณีที่ถ้าการกระทำเป็นความผิดฐานหนึ่งแล้วมิอาจเป็นความผิดอีกฐานหนึ่งได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการยักย้ายข้าวซึ่งเป็นความผิดฐานยักยอกนั้น จำเลยที่ 2 มิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489 จำเลยที่ 2 ก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พุทธศักราช 2489 มาตรา 7, 8, 17 ด้วย และให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share