แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ย้ายที่นั่งทำงานของโจทก์ซึ่งอยู่ในห้องเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าทำให้เกิดอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการทำงานของโจทก์จนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้างที่จะสั่งได้ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้าง จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ย้ายที่นั่งทำงานกับเพื่อนร่วมงานภายในห้องเดียวกัน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ฝ่าฝืนไม่ยอมย้ายที่นั่งทำงานจนจำเลยต้องออกคำตักเตือนเป็นหนังสือถึง 3 ครั้ง โจทก์ก็ยังเพิกเฉย การกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนแล้ว เมื่อเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนที่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างกระทำผิด จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๑,๐๘๓ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของยอดเงินทั้งสองจำนวน และชำระค่าชดเชย ๗๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย ๗๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๑,๐๘๓ บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๖๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของยอดเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๗ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ช่างฝังเพชรพลอย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๙,๕๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔ จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ย้ายที่นั่งแต่โจทก์ไม่ยอมย้าย จำเลยจึงได้ออกหนังสือเตือนโจทก์ แต่โจทก์ก็ยังไม่ปฏิบัติตาม ต่อมาวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ จำเลยได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๔ และอ้างเหตุผลว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ข้อ ๑๒.๑.๔ คือจงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยจำเลยได้สั่งให้โจทก์ย้ายที่นั่งทำงานกับเพื่อนร่วมงานซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือเตือนโจทก์ ๓ ครั้งแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในการจ้างแรงงานนั้น นายจ้างมีสิทธิมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำให้เหมาะสมกับลักษณะหรือสภาพของงาน รวมทั้งกำหนดวันเวลาทำงานและสถานที่ทำงานตามที่นายจ้างเห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน คดีนี้ลักษณะและสภาพของงานที่จำเลยมอบหมายให้โจทก์ทำนั้นเป็นงานฝังเพชรพลอยซึ่งต้องใช้สมาธิ หากพูดคุยกันหรือส่งเสียงดังจะทำให้งานล่าช้าหรือผลงานไม่ได้คุณภาพ แม้ศาลแรงงานกลางจะฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้พูดคุยเสียงดังจนรบกวนการทำงานของพนักงานอื่นก็ตาม แต่จำเลยก็มีสิทธิกำหนดที่ทำงานของลูกจ้างเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายที่นั่งทำงานของโจทก์ซึ่งอยู่ในห้องเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าทำให้เกิดอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการทำงานของโจทก์จนไม่สามารถทำงานต่อไปได้นั้น ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้างที่จะสั่งได้ จึงเป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวมิใช่กรณีร้ายแรง จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งและจำเลยได้มีหนังสือตักเตือนแล้วถึง ๓ ครั้ง แต่โจทก์ก็ไม่ปฏิบัติตามนั้น เป็นการที่โจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนตามกฎหมายซึ่งจำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้สั่งให้โจทก์ย้ายที่นั่งทำงานกับเพื่อนร่วมงานภายในห้องเดียวกัน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเพราะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม แต่โจทก์ฝ่าฝืนไม่ยอมย้ายที่นั่งทำงาน จนจำเลยต้องออกคำตักเตือนเป็นหนังสือถึง ๓ ครั้ง โจทก์ก็ยังเพิกเฉย การกระทำของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนแล้ว และเมื่อเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนที่ไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้กระทำผิด จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.