คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยในเงินบำเหน็จอันเนื่องมาจากการลาออกของลูกหนี้ว่า จำเลยมีทรัพย์สินเพียงเงินเดือน บำเหน็จและโบนัส เท่านั้น จำเลยได้ลาออกจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งจะได้บำเหน็จและโบนัสประจำปีกับเงินเดือนก่อนที่จะลาออกจากงานและองค์การโทรศัพท์ฯ จัดส่งเงินจำนวนดังกล่าวมาให้แล้ว ตามคำร้องดังกล่าวแสดงว่าผู้ร้องประสงค์ขอเฉลี่ยในเงินดังกล่าวอันเนื่องมาจากลูกหนี้ลาออกจากงาน ดังนั้น เมื่อปรากฎว่าโจทก์ได้ขออายัดเงินรายเดียว แต่มีการทยอยส่งมาหลายงวด คำขอเฉลี่ยของผู้ร้องย่อมคลุมถึงเงินที่ส่งมาให้ทุกงวด โดยไม่ต้องยื่นคำขอซ้ำเข้ามาอีก ผู้ร้องนำสืบแล้วว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นอยู่ โดยไม่นำสืบว่าทรัพย์สินดังกล่าวเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้ผู้ร้องหรือไม่ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยได้.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์บังคับคดีอายัดเงินเดือน โบนัสและเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ซึ่งลาออกจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ในคดีนี้ด้วย เนื่องจากผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะให้ผู้ร้องยึดมาชำระหนี้ได้
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอเฉลี่ยได้เฉพาะเงินที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งมาจำนวนแรก ส่วนเงินที่ส่งมาภายหลังผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยอีก คำร้องขอเฉลี่ยจึงไม่ครอบคลุมถึงเงินจำนวนหลัง อนุญาตให้ผู้ร้องมีสิทธิเฉลี่ยเฉพาะเงินจำนวนแรก ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินจำนวนหลัง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในเงินจำนวนหลังด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่13383/2527 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 19219/2530 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 27พฤศจิกายน 2530 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ลงเงินเดือนบำเหน็จ และโบนัสของจำเลยที่ 1 มาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดี ตามหมายอายัด ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน2530 จำนวน 6,198.70 บาท และส่งมาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3ธันวาคม 2530 จำนวน 133,790.28 บาท
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกคือ ผู้ร้องมีสิทธิเฉลี่ยในเงินที่ส่งมาครั้งที่ 2 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าโจทก์อายัดเงินสองครั้งครั้งแรกอายัดเงินเดือนและโบนัส ครั้งที่สองอายัดเงินบำเหน็จ ปรากฏตามเอกสารหมายเลข 1 และ 2 ท้ายฎีกา ปรากฏว่าการอายัดครั้งที่สองเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดไปยังองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530ตามคำขอของโจทก์เป็นคำสั่งอายัดเงินบำเหน็จเนื่องจากจำเลยลาออกจากงาน ซึ่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งเงินตามอายัดมายังเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2530 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ส่วนผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2530 โดยคำร้องดังกล่าวระบุว่า จำเลยมีทรัพย์สินเพียงเงินเดือน บำเหน็จและโบนัสเท่านั้น เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2530 จำเลยได้ลาออกจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะได้บำเหน็จและโบนัสประจำปีกับเงินเดือนก่อนที่จะลาออกจากงาน ซึ่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจัดส่งเงินจำนวนดังกล่าวมาให้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 ตามที่ศาลได้มีคำสั่งอายัดไว้ เห็นว่าข้อความในคำร้องดังกล่าวแสดงไว้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องประสงค์ขอเฉลี่ยในเงินเดือน โบนัส และบำเหน็จอันเนื่องจากการลาออกจากงาน ส่วนที่ระบุว่าเงินที่ส่งมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 เป็นเพียงเงินเดือนในงวดที่ผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยได้ หาได้หมายความว่าผู้ร้องไม่ประสงค์ในเงินบำเหน็จจากการลาออกไปจึงต้องฟังว่าผู้ร้องประสงค์ขอเฉลี่ยในเงินบำเหน็จด้วย เมื่อปรากฏว่าการอายัดเงินบำเหน็จอันเนื่องจากการลาออกนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 และผู้ร้องร้องขอเฉลี่ยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2530 ซึ่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยส่งเงินถึงเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ภายหลังวันขอเฉลี่ย จึงเป็นการขอเฉลี่ยก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินตามที่อายัดตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องจึงมีสิทธิเฉลี่ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นอยู่อีกเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยเงินรายนี้หรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนผู้ร้องว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก แต่ได้ความจากฝ่ายโจทก์ว่าจำเลยมีสิทธิการเช่าโทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย 1 เครื่อง ซึ่งโจทก์แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้วผู้ร้องกลับไม่ยึดสิทธิการเช่า เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเป็นผู้ยึดเอง เห็นว่าไม่ปรากฏว่าสิทธิการเช่าโทรศัพท์มูลค่าเท่าใด พอชำระหนี้ของผู้ร้องหรือไม่ เพราะผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนถึง 98,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้ผู้ร้องอีก ศาลฎีกาเห็นว่ามูลค่าของสิทธิการเช่าดังกล่าวหากนำมาขายทอดตลาดก็น่าจะไม่พอชำระหนี้ให้ผู้ร้อง และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่า สิทธิการเช่าโทรศัพท์เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้ผู้ร้องแล้ว ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีสิทธิการเช่าโทรศัพท์อยู่แต่ไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ให้ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเฉลี่ยในเงินจำนวนที่มาส่งครั้งที่สองอีกได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share