แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์คือกรมไปรษณีย์โทรเลขยังมีหน้าที่เก็บค่าเช่าโทรศัพท์แทนองค์การโทรศัพท์ซึ่งเป็นนิติบุคคลอยู่ หากเงินถูกยักยอกไปโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทำละเมิด โจทก์ก็ต้องรับผิดใช้เงินให้แก่องค์การโทรศัพท์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย โดยไม่คำนึงถึงว่า โจทก์จะได้ใช้เงินนั้นให้แก่องค์การโทรศัพท์แล้วหรือยัง
โจทก์แจ้งบความเรื่องยักยอก เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2499 อันถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดแล้ว แต่โจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนเมื่อ 19 เมษายน 2499 แล้วโจทก์ฟ้องคดีเรื่องละเมิดเมื่อ 9 เมษายน 2500 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
การปฏิบัติที่ผิดระเบียบของทางราชการวางไว้ แม้จะปฏิบัติกันมานานเท่าใดก็ไม่ทำให้เป็นการปฏิบัติที่ชอบขึ้นมาได้ การปล่อยปละละเลยให้มีการปฏิบัติผิดระเบียบเช่นนี้ ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ
ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดให้โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่ง หากปรากฏว่าโจทก์ได้รับชดใช้จากผู้ร่วมละเมิดคนอื่นไปบ้างแล้ว จำเลยก็ย่อมจะคิดหักกับโจทก์ได้ในชั้นบังคบคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเงินและไปรษณียากร กองคลัง กรมไปรษณีย์โทรเลข มีหน้าที่รับผิดชอบในการงานและรับเงินค่าเช่าโทรศัพท์จากผู้เช่าให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แล้วจำเลยประมาทเลินเล่อมอบหมายให้นายสิทธิผล ผู้ช่วยของจำเลยลงนามในใบเสร็จรับเงินไว้ก่อนล่วงหน้าทั้งในต้นฉบับและสำเนาตลอดเล่ม แล้วมอบใบเสร็จรับเงินให้นายจินดา เสมียนไปเขียนกรอกจำนวนเงินที่มีผู้ชำระค่าเช่าโทรศัพท์ เป็นเหตุให้นายจินดาทุจริตเขียนจำนวนเงินที่มีผู้ชขำระจริงลงในต้นฉบับมอบแก่ผู้ชำระไป แต่ลงจำนวนเงินในสำเนาใบรับเพียงเล็กน้อย แล้วยักยอกจำนวนเงินที่แตกต่างกันนี้ไปรวม ๕๔ ราย ทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งจำเลยต้องชดใช้
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีขาดอายุความ และจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์คือกรมไปรษณีย์โทรเลข ยังมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าโทรศัพท์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ แทนองค์การโทรศัพท์อยู่ เมื่อเงินถูกยักยอกไปโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทำละเมิด โจทก์ก็ต้องรับผิดใช้เงินให้แก่องค์การโทรศัพท์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ไม่คำนึงถึงว่าโจทก์จะได้ใช้เงินนั้นให้องค์การโทรศัพท์หรือยัง
ส่วนเรื่องอายุความนั้น แม้โจทก์จะได้แจ้งความเรื่องยักยอกเงินรายนี้เมื่อ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ อันถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดรายนี้แล้วก็ดี แต่โจทก์ก็เพิ่งรู้ว่าจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๙๙ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ ๙ เมษายน ๒๕๐๐ ยังไม่เกิน ๑ ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ส่วนข้อที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่าความจริงการเซ็นชื่อรับเงินในใบเสร็จรับเงินนั้น เป็นหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกเงิน จำเลยอาจมอบหมายให้นายสิทธิผลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทำแทนได้ แต่จำเลยก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยโดยตรงที่จะต้องปฏิบัติ การที่จำเลยไม่ทักท้วงว่ากล่าวนายสิทธิผล ซึ่งเซ็นชื่อล่วงหน้าไว้ในใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ แม้จะมีการปฏิบัติเช่นนี้มานานเท่าใดก็ยังคงเป็นการปฏิบัติที่ผิดระเบียบอยู่นั่นเอง ไม่ทำให้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องขึ้นมาได้ การปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยก็ต้องรับผิด
การที่เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของโจทก์ มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยนั้น ก็หาทำให้จำเลยซึ่งต้องรับผิดอยู่ด้วยพ้นความรับผิดไปไม่ ส่วนการที่นายสิทธิผลทำหนังสือรับสภาพหนี้ใช้เงินรายนี้ให้โจทก์ไปบ้างนั้น เมื่อทั้งนายสิทธิผลและจำเลยเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้ตั้งประเด็นต่อสู้ขึ้นมาแต่แรกว่า หนี้ละเมิดรายนี้โจทก์ได้รับการชดใช้ไปแล้วจากนายสิทธิผล เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนเท่าใด จึงไม่มีทางที่จะหักหนี้ให้จำเลย อย่างไรก็ตาม หากปรากฏว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้รายนี้จากนายสิทธิผลไปแล้วจริงเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยก็ย่อมจะคิดหักหนี้รายนี้กับโจทก์ได้ในชั้นบังคับคดี
พิพากษายืน