คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5184/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือโจทก์และจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่สามารถจะทำธุรกิจร่วมกันต่อไปได้ ทั้งหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดก็มีเพียงจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นหุ้นส่วนผู้ใดได้อีก จึงทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3)
เมื่อมีเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดดำเนินกิจการ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีเหตุ จึงต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1056
โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คน ของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้ และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 วรรคสอง เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมสมควรให้คนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดเป็นผู้ชำระบัญชี โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 คน คือจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และโจทก์เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เกิดความขัดแย้งกัน เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมแบ่งปันผลกำไรจากการประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 แสดงบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีงบดุลและแบ่งปันผลกำไรหลายครั้ง แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย การที่จำเลยที่ 2 ไม่แสดงบัญชีกำไรขาดทุน และแบ่งปันกำไรที่ได้จากการดำเนินการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จนเหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จะดำรงคงอยู่ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ชำระบัญชีเพื่อนำทรัพย์สินที่ได้จากการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มาแบ่งปันแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า หากโจทก์ประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โจทก์จะต้องบอกกล่าวแจ้งความจำนงว่าจะเลิกห้างให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าก่อนถึงวันสิ้นรอบในทางบัญชีไม่น้อยกว่าหกเดือน จำเลยทั้งสองไม่เคยรับการบอกกล่าวจากโจทก์ว่าจะเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ประกอบกับโจทก์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จึงไม่มีสิทธิขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 500,000 บาท โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1949 ตำบลหนองหงส์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ใช้เป็นที่ตั้งโรงงานและสำนักงานที่ทำการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีภาระหนี้ที่จะต้องชำระราคาที่ดินที่นำมาลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 อยู่อีกครึ่งหนึ่งของราคาที่ดิน ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เพิ่งเริ่มทำธุรกิจการค้าได้ประมาณ 2 ปีเศษ มีภาระหนี้สินอยู่เป็นจำนวนมาก จึงยังไม่มีผลกำไรที่จะนำมาแบ่งปันให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน แต่ธุรกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ก็ขยายตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ สามารถที่จะทำธุรกิจการค้าต่อไปได้ตามปกติ จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุเหลือวิสัยใด ๆ ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำรงคงอยู่ได้ จึงยังไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 การเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ยังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสองและบุคคลภายนอกที่เป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ที่จะต้องเสียเปรียบ จึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานบูรณฉัทน์ผลิตกระเบื้องเคลือบดินเผา จำเลยที่ 1 โดยตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า มีเหตุที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2537 และมีหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือโจทก์และจำเลยที่ 2 โจทก์จำเลยที่ 2 ได้ขัดแย้งเกี่ยวกับการแบ่งแยกที่ดินที่ตำบลบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันซื้อมาจริง เมื่อโจทก์ขอตรวจสอบบัญชี และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้ว ในวันนัดโจทก์ได้เดินทางไปที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี แต่จำเลยที่ 2 กลับอ้างว่าไปรอโจทก์ที่สำนักงานของจำเลยที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ตามหนังสือขอตรวจสอบบัญชีได้ระบุว่าหากจำเลยที่ 2 มีเหตุขัดข้องให้แจ้งให้ทนายความของโจทก์หรือโจทก์ทราบ โดยมีหมายเลขโทรศัพท์ไว้ชัดเจน แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ติดต่อกับโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 2 จงใจไม่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 และไม่ยินยอมให้โจทก์ตรวจสอบบัญชี ครั้นโจทก์ฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือทวงถาม ให้โจทก์ชำระค่าหุ้นให้ชำระหนี้รวมทั้งให้แบ่งแยกที่ดินใหม่ เช่นนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้อย่างแน่ชัดว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันและมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่สามารถจะทำธุรกิจร่วมกันต่อไปได้ ทั้งหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดก็มีเพียงจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นหุ้นส่วนผู้ใดได้อีก จึงทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057 (3) และเมื่อมีเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างห้างหุ้นส่วนดำเนินกิจการ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีเหตุ จึงต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1056 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา และเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คนของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรคสอง เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมสมควรให้คนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดเป็นผู้ชำระบัญชี คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share