แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงประชาชนด้วยการโฆษณาแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานในกรุงเทพมหานครเปิดรับสมัครคนงานไปทำงานในต่างประเทศ ความจริงจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวและไม่สามารถจัดหางานตามที่โฆษณาได้ แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด เพียงแต่อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานก็เพื่อให้ได้เงินค่าบริการจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าว ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองเพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกับพวกรู้ว่าไม่สามารถส่งคนไปทำงานต่างประเทศได้ ข้อความที่จำเลยแสดงต่อประชาชนเป็นความเท็จการที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยโฆษณาด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้ประชาชนหลงเชื่อเป็นความเท็จอย่างไร จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตได้บังอาจหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ชาวบ้านหนองผักชีว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานในกรุงเทพมหานครเปิดรับสมัครคนงานไปทำงานยังเกาะไซปัน ประเทศฟิลิปปินส์ เงินเดือนสูง รายได้ดี ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นความจริงความจริงจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานในกรุงเทพมหานคร และไม่สามารถจัดหางานให้ผู้สมัครไปทำงานตามที่จำเลยโฆษณาได้ จำเลยได้ปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยการหลอกลวงดังกล่าวมีประชาชนไปสมัครงานกับจำเลย จำนวน 12 คน ได้เสียค่าบริการ ค่านายหน้าให้แก่จำเลย เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 แล้ว ไม่เคลือบคลุม
พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินที่จำเลยกับพวกได้ออกให้ผู้เสียหายโดยการถ่ายภาพรวมสำเนาไว้แล้ว แม้จะคืนต้นฉบับให้ผู้เสียหายไป ก็ถือได้ว่าใบเสร็จดังกล่าวเป็นเอกสารส่วนหนึ่งในสำนวนการสอบสวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๙๑ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๗, ๒๗ ให้จำเลยคืนเงิน ๑๒๔,๕๐๐ บาท ให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓ จำคุก ๔ ปี ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๒๗ จำคุก ๑ เดือน รวมจำคุก ๔ ปี ๑ เดือน ให้จำเลยคืนเงิน ๑๒๔,๕๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน ๒๐ วัน ให้จำเลยคืนเงินให้ผู้เสียหายคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยคืนให้นายเจริญ ทศลาเพียง ๙,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย เห็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนว่า จำเลยหลอกลวงประชาชนด้วยการโฆษณาแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานในกรุงเทพมหานคร เปิดรับสมัครคนงานไปทำงานที่เกาะไซปัน ประเทศฟิลิปปินส์ ความจริงจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทในกรุงเทพมหานครและไม่สามารถจัดหางานตามที่โฆษณาได้นั้น แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จำเลยเพียงแต่อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานในกรุงเทพมหานครก็เพื่อให้ได้เงินค่าบริการจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๑๑ ดังโจทก์ฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓ จำคุก ๔ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน เป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้โฆษณาด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ให้ประชาชนหลงเชื่อนั้นเป็นความเท็จอย่างไร จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พยานโจทก์แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับพวกรู้ว่าไม่สามารถส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศได้ ข้อความที่จำเลยแสดงต่อประชาชนจึงเป็นความเท็จ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อ นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยได้หลอกลวงประชาชนทั่วไปไม่ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ฟ้องโจทก์ข้อ ๑ ก. บรรยายว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตได้บังอาจหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ชาวบ้านหนองผักชีว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานในกรุงเทพมหานคร เปิดรับสมัครคนงานไปทำงานยังเกาะไซปัน ประเทศฟิลิปปินส์ เงินเดือนสูง รายได้ดี ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นความจริง ความจริงจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัทจัดหางานในกรุงเทพมหานครและไม่สามารถจัดหางานให้ผู้สมัครไปทำงานตามที่จำเลยได้โฆษณาได้ จำเลยได้ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยการหลอกลวงดังกล่าวมีประชาชนไปสมัครงานกับจำเลย จำนวน ๑๒ คน ได้เสียค่าบริการ ค่านายหน้าให้แก่จำเลย เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๓๔๓ แล้ว ฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเพื่อจะได้ประกันตัวไป และใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกให้ผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๒๑ ไม่ได้ผ่านพนักงานสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕, ๑๓๙ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓ นั้น เห็นว่า ศาลล่างฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเพื่อจะได้ประกันตัวไปจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินตามที่จำเลยฎีกานั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินที่จำเลยกับพวกได้ออกให้ผู้เสียหายโดยการถ่ายภาพรวม
สำนวนไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.๑๗ แม้พนักงานสอบสวนจะคืนต้นฉบับให้ผู้เสียหายไป ก็ถือได้ว่าใบเสร็จดังกล่าวเป็นเอกสารส่วนหนึ่งในสำนวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกา จำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเมื่อลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๔๓ แล้วก็ไม่ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา ๓๔๑ อีก และเห็นสมควรระบุวรรคให้ชัดเจนด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์