แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยฎีกาว่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แบ่งแยกที่ดินทางด้านทิศเหนือให้แก่โจทก์และบุตรโจทก์ 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต้องนำเจ้าพนักงานไปรังวัดแบ่งแยกให้แก่โจทก์และบุตรโจทก์ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับยึดที่ดินทั้งแปลงและขายทอดตลาดไปนั้น เป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองจำเลยต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีนั้นเสีย ไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้นจำเลยทราบการยึดที่ดินทั้งแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่โจทก์นำยึด แต่เพิ่งมายื่นคำร้องในภายหลังครบกำหนด 8 วันมาช้านานแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ (จำเลยเพิ่งยกปัญหาว่าการยึดและการขายทอดตลาดเป็นการนอกเหนือคำพิพากษาศาลชั้นต้นในชั้นฎีกา เดิมศาลชั้นต้นสั่งไม่รับในประเด็นข้อนี้ แต่ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งให้รับ เพราะเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามคำสั่งคำร้องฎีกาที่ 2629/2534) ในวันขายทอดตลาดจำเลยได้มาดูแลการขาย แต่กลับไปก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเขียนรายงานการขายทอดตลาดที่ดินให้แก่ผู้สู้ราคาสูงสุด แสดงว่าจำเลยได้ทราบในวันนั้นเองว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินไปในราคาที่อ้างว่าต่ำกว่าราคาปกติจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันดังกล่าว ทั้งตามคำร้องของจำเลยก็ไม่ได้มีข้อความอันเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินมีโฉนด 1 ใน 3 ส่วน ด้านทิศเหนือ กับให้แบ่งแยกที่ดินน.ส.3 อันเป็นทรัพย์ของนางละม่อม มีแสง ผู้ตาย ให้แก่โจทก์และบุตรโจทก์ หากตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแบ่งเงินตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตรโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับโจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ที่พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 4944 ออกขายทอดตลาด และได้ขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2533 ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 2533ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกโจทก์มาศาลเพื่อตกลงแบ่งที่ดินโฉนดดังกล่าวและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาแล้วและคดีอยู่ระหว่างการบังคับคดี ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะให้ศาลหมายเรียกโจทก์มาเพื่อตกลงแบ่งที่ดิน ทั้งไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะให้ศาลสั่งงดการขายทอดตลาดตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าราคาต่ำเกินไป
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกว่าการยึดและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการนอกเหนือจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ จำเลยฎีกาสรุปความได้ว่าตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษาให้แบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวทางด้านทิศเหนือให้แก่โจทก์และบุตรโจทก์ 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต้องนำเจ้าพนักงานรังวัดออกไปรังวัดแบ่งแยกให้แก่โจทก์และบุตรโจทก์การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินโฉนดดังกล่าวทั้งแปลงและทำการขายทอดตลาดไปนั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถูกต้องตามคำพิพากษา เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง จำเลยจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีนั้นเสีย ไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้นปรากฏข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนว่าโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทตามโฉนดดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2531 ได้พบจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แสดงหมายบังคับคดีให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ได้ชี้ให้ยึดที่ดินทั้งแปลงเนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่า ที่ดินส่วนไหนเป็นของนางละม่อม มีแสง (เจ้ามรดก) โดยยืนยันว่าเป็นทรัพย์สินของนางละม่อมจริง หากเกิดความเสียหายใด ๆ ยินยอมรับผิดชอบทั้งสิ้นจำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อรับหมายแจ้งการยึด จึงได้ปิดหมายไว้ตามภูมิลำเนาตามที่โจทก์แถลงรายละเอียดปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีและรายการยึดที่ดินแปลงที่ 1 ฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2531แสดงว่าจำเลยทราบเรื่องการยึดที่ดินพิพาททั้งแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2531 จำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2533 ว่า จำเลยตลอดจนทายาททุกคนมีความประสงค์จะแบ่งที่ดินตามส่วนของตนที่มีสิทธิจะได้ขอให้ออกหมายเรียกโจทก์มาศาลเพื่อตกลงแบ่งกันต่อไป และตามที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์นั้น ขอให้งดไว้ก่อน จึงเป็นการยื่นเมื่อเกินกำหนด 8 วัน มาช้านานแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาประการหลังมีว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไปในราคาที่ต่ำเกินไปหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามท้องสำนวนว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามโฉนดดังกล่าวโจทก์และจำเลยได้มาดูแลการขาย มีผู้ลงชื่อเข้าสู้ราคา 6 ราย นายสมนึก โพธารามสู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์ไม่ค้านราคา จำเลยนางประเทือง มีแสง และนางสาวประทุม มีแสง ผู้ร้องขอกันส่วนค้านว่าราคาต่ำ เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นการขายครั้งที่ 4ไม่มีผู้ให้ราคาสูงกว่านั้น และราคาที่ให้ก็สูงกว่าราคาประเมิน(ราคาประเมินขณะยึด 297,500 บาท) ผู้ค้านราคาไม่ลงชื่อสู้ราคาหรือหาผู้เข้าสู้ราคาซึ่งจะทำให้มีราคาสูงขึ้นได้ จึงได้ราคาพอสมควรกับทรัพย์แล้ว และได้นับสามกับเคาะไม้ขายไปในราคาดังกล่าวรายละเอียดปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่28 กุมภาพันธ์ 2533 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้บันทึกไว้ในช่องจำเลยลงชื่อว่ากลับไปก่อนเขียนรายงาน แสดงว่าจำเลยได้ทราบในวันเดียวกันนั้นเองว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามโฉนดดังกล่าวไปในราคาที่อ้างว่าต่ำกว่าราคาปกติซึ่งเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จำเลยจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามโฉนดดังกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ตามบทกฎหมายกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น และคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม2533 หาได้มีข้อความอันเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใดไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และให้ยกฎีกาจำเลยให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลย