คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเช่ากับค่าเสียหายจำเลยต่อสู้ว่าที่ดินที่โจทก์ฟ้องเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินปรากฏว่าโจทก์ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินรายพิพาท บัดนี้คดีนั้นถึงที่สุดแล้ว ศาลพิพากษาให้ขับไล่คดีนี้ออกจากที่พิพาทโดยวินิจฉัยว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินคำชี้ขาดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐอันถึงที่สุดแล้วย่อมปิดปากโจทก์มิให้โต้เถียงเป็นอย่างอื่น เมื่อที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่โจทก์นำที่พิพาทมาให้จำเลยเช่าสัญญาเช่าจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่หรือเรียกเอาค่าเสียหาย

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้โจทก์คนเดียวกันฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทพร้อมกับเรียกค่าเช่าและค่าเสียหาย

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร และให้จำเลยชำระค่าเช่าค่าเสียหาย

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นที่ซึ่งทางราชการสงวนไว้เพื่อปลูกสร้างสถานที่ราชการ ตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2472 ซึ่งระบุห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดจับจองถือกรรมสิทธิ์ในบรรดาที่ดินว่างเปล่ามาก่อน พ.ศ. 2465 โจทก์ไม่มีสิทธินำไปให้ผู้ใดเช่า คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความ 2 ศาลสำนวนละ 150 บาท แทนจำเลยด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของโจทก์โต้แย้งว่า ที่พิพาทซึ่งให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินปลูกเรือนทั้งสองแห่งนั้น โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบ หาใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ ข้อที่โจทก์อ้างว่า ได้รับซื้อที่ดินไว้จากนายเทียนชัย ฮุนนางกูลทั้งหมดเนื้อที่ 25 ไร่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 แล้วเข้ายึดถือครอบครองตลอดมา หาได้มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินอย่างใดไม่ จึงเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย สภาพที่พิพาทปรากฏต่อศาลชั้นต้น ซึ่งออกไปเผชิญสืบตรวจสถานที่ว่าบริเวณบ้านของจำเลยที่ปลูกสร้างทั้งสองหลังตั้งอยู่ตรงแอ่งกลางแวดล้อมด้วยภูเขา 3 ลูก พื้นที่เป็นหินปนดินทั่วไปทั้งเป็นที่เนินอยู่ระดับสูงน้ำท่วมไม่ถึง มีวัดตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง คือ วัดคีรีวง และวัดหลวงพ่อท้าว แสดงชัดว่าเป็นบริเวณที่ดินเชิงเขา โจทก์จะไม่รู้ว่าเป็นที่สงวนหวงห้ามเทียวหรือยิ่งกว่านั้นโจทก์ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ฟ้องขอให้ขับไล่ออกจากที่ดินตรงเชิงเขาใหญ่ โดยอ้างว่าที่ดินบริเวณระหว่างเขาใหญ่เขาขาด เขาโกรกพม่า ฯลฯ รวมทั้งที่ดินสองฝั่งถนนพหลโยธิน เป็นเขตสงวนตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2472 ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 200, 201/2512หมายเลขแดงที่ 212, 213/2513 ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย (คือ โจทก์ในคดีสองสำนวนนี้) และบริวารออกไปจากที่พิพาทโดยวินิจฉัยว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาฎีกาที่ 773, 774/2516 พิพากษายืน เป็นอันว่า โจทก์เถียงไม่ขึ้นว่า ที่พิพาททั้งสองรายนี้ไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะคำชี้ขาดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐอันถึงที่สุดแล้ว ย่อมปิดปากโจทก์มิให้โต้เถียงเป็นอย่างอื่น เมื่อที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่โจทก์นำที่ดินดังกล่าวไปให้จำเลยเช่า สัญญาเช่าจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์หามีสิทธิฟ้องขับไล่หรือเรียกร้องเอาค่าเช่าจากจำเลยรวมทั้งค่าเสียหายในอัตราค่าเช่าได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share