แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองให้การว่ามารดาของภริยาจำเลยที่ 1 ซื้อรถคันดังกล่าวให้พี่ชายของจำเลยที่ 2 แต่ขณะนั้นพี่ชายของจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์จึงใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้แทน ครั้นพี่ชายของจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้หรือไม่ โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบ แม้มีการนำสืบก็เป็นการนำสืบนอกประเด็น ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 1741 นครปฐม กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนกลับคืน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 1741 นครปฐม ให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าวกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเรื่องจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้มาวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 1741 นครปฐม ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองให้การว่า มารดาของภริยาจำเลยที่ 1 ซื้อรถคันดังกล่าวให้นายนเรศพี่ชายของจำเลยที่ 2 แต่ขณะนั้นนายนเรศยังเป็นผู้เยาว์จึงใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้แทน ครั้นนายนเรศถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จากคำให้การดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้ คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ได้หรือไม่ เมื่อไม่มีประเด็น โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบ และแม้จะมีการนำสืบก็เป็นการนำสืบนอกประเด็น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 1741 นครปฐม ระหว่างจำเลยทั้งสอง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อมีคำพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว นิติกรรมดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป กรรมสิทธิ์ในรถย่อมกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงบังคับให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าวกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์อีกไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 1741 นครปฐม กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ