แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยยื่นไว้ต่อธนาคารโจทก์และเงื่อนไขการรับเปิดบัญชีกระแสรายวันระบุว่า ถ้าหากธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของผู้ฝากไปผู้ฝากยอมใช้เงินส่วนที่จ่ายเกินบัญชีนั้นให้ธนาคารพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายนับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงินนั้นเป็นต้นไป ถือว่าได้มีข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเมื่อจำเลยออกเช็คเบิกเงินเกินจำนวนในบัญชีและโจทก์ยอมจ่ายเงินตามนั้น จำเลยตกลงจ่ายเงินส่วนที่เกินจากเงินในบัญชีคืนแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินเกินจำนวนในบัญชีของจำเลยและโจทก์จ่ายเงินตามเช็คนั้นไป จำเลยจึงต้องจ่ายเงินที่เกินบัญชีแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเพราะไม่ได้ตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเป็นเพียงหนังสือขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน จึงเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลยในการขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2524 จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์ณ สำนักงานสาขาสะพานควาย โดยยอมปฏิบัติตามระเบียบการบัญชีประเภทเงินฝากกระแสรายวันและประเพณีนิยม และวิธีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ การสั่งจ่ายเงินจำเลยตกลงใช้เช็คของโจทก์เป็นหลักฐานในการเบิกเงิน กรณีที่เงินในบัญชีจำเลยไม่พอจ่ายตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่าย หากโจทก์ยอมจ่ายเงินตามเช็คเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี จำเลยตกลงใช้เงินส่วนที่เกินบัญชีแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยหลังจากจำเลยได้เปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวแล้ว จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีและใช้เช็คเบิกจ่ายเงินจากบัญชีหมุนเวียนเรื่อยมา ต่อมาปรากฏว่าจำเลยได้สั่งจ่ายเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชี ซึ่งโจทก์ได้ยอมจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวให้เกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีไปพร้อมทั้งคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ปรากฏว่าจำเลยเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เป็นจำนวนมาก โจทก์แจ้งให้จำเลยนำเงินเข้าบัญชี จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินที่จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีและค้างชำระอยู่จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 177,856.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 142,277.03 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่เคยส่งรายการบัญชีกระแสรายวันให้จำเลยทราบ หากมีการกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวก็เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินในบัญชีของจำเลยมากกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีกระแสรายวันของจำเลย เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและหรือโจทก์สมคบกับบุคคลอื่นเพื่อฉ้อฉลจำเลย จำเลยไม่เคยทราบและให้ความตกลงยินยอมแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 177,856.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 142,277.03 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นจะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยตกลงกู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนางสาวศรีธนา ไตรธนานุบาล และนายสมศักดิ์ วารวิจิตรเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2524 จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์บัญชีเลขที่ 016-10-2334-5 ตามคำขอเปิดบัญชีดังกล่าว มีข้อตกลงว่าจำเลยยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขและประเพณีของธนาคารตามที่ปรากฏในคำขอเปิดบัญชี คำขอเปิดบัญชีปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 การเบิกเงินในบัญชีจะใช้เช็คของโจทก์และกรณีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย เมื่อโจทก์ยินยอมจ่ายเงินส่วนที่เกินนั้นจำเลยตกลงจะใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6หลังจากนั้นจำเลยนำเช็คมาเข้าบัญชีจำนวน 1,000,000 บาท แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยจึงนำเงินมาเข้าบัญชี จำนวน 550,000 บาทต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2524 จำเลยใช้เช็คของโจทก์เบิกเงินจำนวน800,000 บาท ซึ่งยอดหนี้ในวันนั้นจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน250,000 บาท ปรากฏตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.7 และเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเงินจำนวน 800,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาจำเลยนำเงินมาเข้าบัญชี 16 ครั้ง ครั้งละจำนวน 10,000 บาท โดยครั้งที่ 15 ชำระเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2526 ชำระจำนวน 10,000บาท ยอดหนี้ ณ วันดังกล่าว จำเลยยังคงค้างจำนวน 142,277.03 บาทครั้งที่ 16 จำเลยชำระจำนวน 10,000 บาท แต่เป็นการชำระดอกเบี้ยไม่สามารถลดยอดเงินต้นได้ จึงใช้ยอดเงินต้นดังกล่าวคิดดอกเบี้ยต่อมานับถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 35,579.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 177,856.28 บาท พยานโจทก์ทั้งสองคนเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งปฏิบัติการในหน้าที่น่าเชื่อว่าจะเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง ทั้งจำเลยก็ไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 และจำนวนหนี้ที่ค้างชำระตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนจำเลยจะต้องรับผิดตามจำนวนหนี้ที่กล่าวหรือไม่นั้น เห็นว่า คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยยื่นไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 หน้าแรกระบุว่า ข้าพเจ้าได้ทราบข้อความเงื่อนไขการรับเปิดบัญชีกระแสรายวันของธนาคารกสิกรไทย(โจทก์) ที่พิมพ์ไว้ต่อท้ายคำขอฉบับนี้โดยตลอดแล้วยินยอมผูกพันและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กล่าวนี้ทุกประการ และเงื่อนไขการรับเปิดบัญชีกระแสรายวัน ข้อ 18 ระบุว่า ถ้าบัญชีของผู้ฝากมีเงินไม่พอจ่ายตามเช็ค ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินและจะหักบัญชีผู้สั่งจ่ายฉบับละไม่เกิน 25 บาททุกคราวที่มีการคืนเช็ค แต่ถ้าหากธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของผู้ฝากไป ผู้ฝากยอมใช้เงินส่วนที่ธนาคารจ่ายเกินบัญชีนั้นให้ธนาคารพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย นับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงินนั้นเป็นต้นไป เช่นนี้ถือได้ว่ามีข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ระหว่างจำเลยกับโจทก์ว่า เมื่อจำเลยออกเช็คเบิกเงินเกินจำเลยในบัญชี และโจทก์ยอมจ่ายเงินตามนั้น จำเลยตกลงจ่ายเงินส่วนที่เกินจากเงินในบัญชีคืนแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อจำเลยออกเช็คตามเอกสารหมายจ.8 สั่งจ่ายเงินเกินจำนวนในบัญชีของจำเลยและโจทก์จ่ายเงินตามเช็คนั้นไป จำเลยจึงต้องจ่ายเงินที่เกินบัญชีแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เพราะไม่ได้ตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และไม่ใช่เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือสมคบกับผู้อื่นทำการฉ้อฉลต่อจำเลย แต่เป็นเรื่องโจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้ ตามคำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นประกอบเอกสารหมาย จ.7 จ.8 ฟังได้ว่าณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2526 ยอดหนี้เกินบัญชีที่โจทก์จ่ายแก่จำเลยตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 ยังคงค้างชำระหลังจากจำเลยชำระหนี้บางส่วนแล้วเป็นเงินต้น 142,277.03 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.5 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ เห็นว่าคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นเพียงหนังสือขอเปิดบัญชีกระแสรายวันจึงเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลยในการขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นแม้เอกสารหมาย จ.5 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน