คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำกัดที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งไว้แล้ว แต่ไม่ได้ออกใบหุ้นเลยนั้น การโอนขายหุ้นให้แก่กันในระหว่างผู้ถือหุ้นจึงหาจำต้องทำเป็นหนังสือไม่
การมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในสมุดทะเบียนของทางการนั้นเป็นแต่ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายซึ่งอาจนำสืบหักล้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ และ ๓ เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ตั้งบริษัทมา จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับและระเบียบที่วางไว้ ทั้งการค้าก็ทำไปมีแต่ขาดทุนและยังโน้มเอียงไปในทางไม่สุจริต จำนวนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ลดน้อยลงเหลือเพียง ๖ คน เป็นการขัดต่อกฎหมาย โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนได้เสียในบริษัท ได้ทักท้วงแล้ว แต่จำเลยก็เพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ และตั้งโจทก์หรือผู้ที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ชำระบัญชี
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ และ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ได้โอนขายหุ้นของโจทก์ให้จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว โจทก์จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้เลิกบริษัทและชำระบัญชีได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาได้ความว่า โจทก์จำเลยได้ร่วมกันตั้งบริษัทขึ้นบริษัทหนึ่งใช้ชื่อว่า บริษัทโรงเรื่อยจักร ส.และบุตร จำกัด โจทก์ถือหุ้น ๕๐๐ หุ้น จำเลยที่ ๒ และ ๓ ถือหุ้นคนละ ๕๐๐ หุ้น เมื่อจดทะเบียนการจัดตั้งบริษัทไว้แล้ว ทางบริษัทหาได้ทำใบหุ้นมอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้นไม่ ปัญหามีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอเลิกบริษัทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้โอนขายหุ้นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๒ แล้ว เมื่อได้ความว่าการตั้งบริษัทรายนี้ไม่ได้ออกใบหุ้นเลย การโอนหุ้นของโจทก์หาจำต้องได้รับความยินยอมของบริษัท และไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ ระบุไว้ว่า การโอนหุ้นจะต้องได้รับความยินยอมและต้องทำเป็นหนังสือเฉพาะการโอนหุ้นชนิดระบุลงชื่อในใบหุ้นนั้น การโอนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงเป็นการโอนที่สมบูรณ์ ถึงแม้จะไม่ได้รับความยินยอมของบริษัทและไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ส่วนการมีชื่อในสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นของกรมทะเบียนการค้า แม้จะมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ก็เป็นแต่ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย ซึ่งคู่ความมีสิทธินำสืบข้อเท็จจริงเห็นว่าหักล้างได้ เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้โอนขายหุ้นให้แก่จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว
ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็ตกไป เมื่อฟังว่าโจทก์ได้โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ ๒ แล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอเลิกบริษัท ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน

Share