แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ตั้งผู้ร้องและต.เป็นกรรมการของบริษัทม.ชั่วคราว ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้อง ซึ่งแม้ในคำร้องจะขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งก็ตาม แต่จากข้ออ้างในคำร้องประกอบด้วยพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านประสงค์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนผู้ร้องและต.ออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัทม.แล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นกรรมการชั่วคราวแทนนั่นเอง ซึ่งผู้ร้องและต.คัดค้านคำร้องดังกล่าวของผู้คัดค้านกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงให้ได้ความว่ามีเหตุสมควรที่จะถอดถอนผู้ร้องและต.ออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวแล้วตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นแทนหรือไม่และมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนมี คำสั่งงดการไต่สวนและส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณานั้นจึงไม่ชอบ เพราะโดยปกติคดีจะขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งหรือ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในภาค 3 ลักษณะ 1ว่าด้วยอุทธรณ์ แต่คดีกลับขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์โดยคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง ของผู้คัดค้านโดยไม่มีการวินิจฉัยถึงคำสั่งศาลชั้นต้นแต่ประการใดคำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเช่นกันแม้ผู้คัดค้านจะไม่ฎีกามาก็ตามแต่เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),243,247 ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ตั้งผู้ร้องและนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ เป็นกรรมการของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด ชั่วคราว โดยให้ผู้ร้องหรือนางเชน ฮุยชิง ฮวง คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ และประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนายกระทำการแทนบริษัทได้ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่าบุคคลทั้งสองมิได้กระทำการใด ๆ ให้สมกับฐานะการเป็นกรรมการบริษัท จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนและมีคำสั่งถอดถอนผู้ร้องและนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒนพงศ์ออกจากการเป็นผู้แทนชั่วคราวของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัดและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้แทนชั่วคราวของบริษัทดังกล่าวต่อไป
ผู้ร้องและนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการไต่สวนและมีคำสั่งว่าหากบุคคลที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ผู้คัดค้านในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ถือหุ้นก็ชอบที่จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169มิใช่มาร้องคัดค้านในคดีนี้ แต่อย่างไรก็ตามกรณีตามคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้อง (ที่ถูกผู้คัดค้าน) ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง จึงให้รวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาต่อไป
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำร้องของผู้คัดค้านเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งถอดถอนกรรมการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการชั่วคราว และขอให้แต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นกรรมการแทน โดยอ้างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาไปแล้ว กรณีจะมีเหตุที่จะอ้างโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อถอดถอนกรรมการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการชั่วคราวและแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นกรรมการแทนได้หรือไม่เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นจะพิจารณาสั่ง ผู้คัดค้านชอบที่จะขอต่อศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มูลคดีเป็นเรื่องผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคล กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70, 73ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 ที่มีคำสั่งตั้งผู้ร้องและนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ เป็นกรรมการของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด ชั่วคราว ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ แม้ในคำร้องจะขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งก็ตาม แต่จากข้ออ้างในคำร้องประกอบด้วยพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านประสงค์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนผู้ร้องและนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ ออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด แล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด แทนนั่นเอง ซึ่งผู้ร้องและนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์คัดค้านคำร้องดังกล่าวของผู้คัดค้าน กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงให้ได้ความว่ามีเหตุสมควรที่จะถอดถอนผู้ร้องและนายเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวแล้วตั้งผู้คัดค้านเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด แทนหรือไม่และมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งงดการไต่สวนและส่งสำเนาไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาสำหรับศาลอุทธรณ์นั้นโดยปกติคดีจะขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งนี้ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในภาค 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ คดีกลับขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ โดยคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้านโดยไม่มีการวินิจฉัยถึงคำสั่งศาลชั้นต้นแต่ประการใด เห็นว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเช่นกัน แม้ผู้คัดค้านจะไม่ฎีกามาก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),243, 247 ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2539ที่ให้งดการไต่สวนและส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาและยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ที่ให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้าน แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป