แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 119 วรรคสอง และวรรคสามจะกำหนดให้การร้องคัดค้านหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านให้ทำเป็นคำร้องก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่มีหนังสือแจ้งยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้และให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแม้ผู้ร้องจะอ้างว่าหนี้จะระงับสิ้นไปแล้วโดยการหักกลบลบหนี้ก็ตาม แต่ผลก็คือขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระตามที่ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งยืนยันไป และหากศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องชนะคดี ทุกข์ของผู้ร้องย่อมปลดเปลื้องไปตามจำนวนเงินที่ผู้ร้องไม่ต้องชำระ คดีของผู้ร้องจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ (1) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179 วรรคท้าย ซึ่งกำหนดให้ค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ให้คิดอัตราเดียวกันกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ถูกต้อง ซึ่งศาลชั้นต้นแจ้งให้ผู้ร้องทราบคำสั่งนั้นแล้ว ผู้ร้องเพิกเฉยจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2),246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153 ต้องจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ถูกต้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้ผู้ร้องจะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องก็มีสิทธิเพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นเพื่อใช้สิทธิฎีกาต่อไปเท่านั้น หามีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไม่ การที่ผู้ร้องฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ผู้ล้มละลายเด็ดขาด ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 7,415,342.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านและจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีของผู้ร้องเป็นคดีมีทุนทรัพย์และต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ (1)(ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 179 วรรคท้าย เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาชำระเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง และวรรคสาม บัญญัติให้บุคคลที่ได้รับหนังสือแจ้งยืนยันหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หากจะคัดค้านให้ร้องคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 มิได้บัญญัติให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ คดีของผู้ร้องจึงต้องถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งผู้ร้องได้มีคำขอให้หักกลบลบหนี้กับหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 4 ฉบับซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของกองทรัพย์สินผู้ล้มละลายแล้ว อันเป็นคำขอที่ให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ตามตาราง 1ข้อ 2(2)(ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่าแม้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคสอง และวรรคสาม จะบัญญัติให้การร้องคัดค้านหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านให้ทำเป็นคำร้องก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่มีหนังสือแจ้งยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ และให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งแม้ผู้ร้องจะอ้างว่าหนี้ได้ระงับสิ้นไปแล้วโดยการหักกลบลบหนี้ก็ตาม แต่ผลก็คือขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระตามที่ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งยืนยันไป และหากศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องชนะคดี ทุกข์ของผู้ร้องย่อมปลดเปลื้องไปตามจำนวนเงินที่ผู้ร้องไม่ต้องชำระคดีของผู้ร้องจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ (1)(ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 179 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติให้ค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ให้คิดอัตราเดียวกันกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ถูกต้อง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งและผู้ร้องทราบคำสั่งนั้นแล้ว ผู้ร้องเพิกเฉย จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2), 246ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ภายหลังที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ และศาลชั้นต้นได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ร้องทราบโดยให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ถูกต้องก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 21 กันยายน 2538 ผู้ร้องได้ฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์และขอให้ทุเลาการชำระค่าขึ้นศาลตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไว้ก่อน ซึ่งชอบที่ศาลอุทธรณ์จะส่งฎีกาและคำร้องขอทุเลาการชำระค่าขึ้นศาลของผู้ร้องดังกล่าวให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเสียก่อน การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่เสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องตามคำสั่งอุทธรณ์ เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 ประกอบด้วยมาตรา 247 ขอให้ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์โดยให้ศาลอุทธรณ์ส่งฎีกาที่คัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของผู้ร้องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยก่อน แล้วจึงวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น เห็นว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ถูกต้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้ผู้ร้องจะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิเพียงแต่โต้แย้งคำสั่งนั้นเพื่อใช้สิทธิฎีกาต่อไปเท่านั้นยังหามีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไม่ การที่ผู้ร้องฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1)ประกอบด้วยมาตรา 247 และไม่อาจขอทุเลาการชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้ เมื่อเป็นดังนี้ ย่อมไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยมาแล้วเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้”
พิพากษายืน