คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5165/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 หารถยนต์มาเอาประกันภัยกับโจทก์โดยได้รับบำเหน็จตอบแทนในอัตราร้อยละ 12 โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำกรมธรรม์ไปส่งให้แก่ลูกค้าและรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้ามามอบให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอันมีผลให้การกระทำของทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 31 (13) และมาตรา 63 ก็ตาม แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับไว้จากลูกค้าของโจทก์ตามสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกันไม่ได้ และการเป็นตัวแทนก็มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระเงิน 6,092,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 5,636,482 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,636,482 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนและให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 6,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทรับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย จำเลยที่ 1 กระทำการเป็นตัวแทนหารถยนต์มาประกันภัยกับโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 โดยใช้ชื่อบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โบรกเกอร์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ มีข้อตกลงกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 หารถยนต์มาเอาประกันภัยกับโจทก์ได้แล้ว โจทก์จะออกกรมธรรม์มอบให้จำเลยที่ 1 นำไปให้ผู้เอาประกันภัยและจำเลยที่ 1 จะเก็บเบี้ยประกันภัยมาส่งให้โจทก์ โจทก์จะจ่ายบำเหน็จให้จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 12 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเบี้ยประกันภัย ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 โจทก์และจำเลยทั้งสองทำหนังสือขึ้นฉบับหนึ่งเรียกชื่อว่า หนังสือสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกัน มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ได้เก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์จากลูกค้าของโจทก์ไปหลายราย เมื่อคิดบัญชีแล้วคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ 5,636,482 บาท จำเลยทั้งสองยังมิได้ชำระ
วินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์จึงฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทนของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 หารถยนต์มาเอาประกันภัยกับโจทก์โดยได้รับบำเหน็จตอบแทนในอัตราร้อยละ 12 โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำกรมธรรม์ไปส่งให้แก่ลูกค้าและรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้ามามอบให้โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนอันมีผลให้การกระทำของทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 31 (13) และมาตรา 63 ก็ตาม แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับไว้จากลูกค้าของโจทก์ตามสัญญารับสภาพหนี้และค้ำประกันหาได้ไม่ และการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหาใช่การที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ สัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์.

Share