คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละตอนกันเมื่อการสอบสวนได้ดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้การจับกุมจะมิชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาทำให้กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่
คดีที่มีกรณีทั้งต้องเพิ่มโทษและลดโทษที่จะลงแก่จำเลยนั้นจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 คือเพิ่มก่อนแล้วลดหรือไม่เพิ่ม ไม่ลด ถ้าในที่สุดคงลงโทษจำคุกจำเลยจริงไม่เกิน 20 ปีแล้วก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 51
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า เมื่อลงโทษจำคุกจำเลย20 ปีแล้ว จะเพิ่มโทษจำคุกจำเลยเกินกว่า 20 ปีไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ยังจะมีการลดโทษจำเลยด้วย แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ศาลฎีกาจะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์หนึ่งกระบอกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนเจ้าพนักงานและกระสุนปืน ๓ นัดไว้ในความครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้บังอาจพกอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวเข้าไปในเมืองในหมู่บ้านตามถนนสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ในวันเวลาเดียวกันนั้นจำเลยกับพวกอีก ๒ คนได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงนายชุ้น ทองคำแท้ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว มากระทำผิดคดีนี้อีกขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓, ๙๒, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๒๐ ปี แต่ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๒ นั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๑ บัญญัติมิให้เพิ่มโทษจำคุกเกินกว่า ๒๐ ปี จึงไม่เพิ่มโทษจำเลยตามที่โจทก์ขอ และลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้ ๑๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้องที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จ่าสิบตำรวจวีระพันธ์มิใช่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ได้จับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับ การจับกุมจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละตอนกันเมื่อการสอบสวนดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าการจับกุมอาจมิชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาทำให้การสอบสวนซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นกระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาไม่
แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่เพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา ๙๒ ที่โจทก์ขอนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะคดีนี้มีกรณีทั้งต้องเพิ่มและลดโทษที่จะลงแก่จำเลย ที่ถูกนั้นจะต้องบังคับตามมาตรา ๕๔คือ เพิ่มก่อนแล้วลดหรือไม่เพิ่มไม่ลด ซึ่งในที่สุดคงลงโทษจำคุกจำเลยจริงไม่เกิน ๒๐ ปี ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๕๑ (อ้างฎีกาที่ ๔๐๓/๒๔๙๗)แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกามา จึงเป็นผลดีแก่จำเลย
พิพากษายืน

Share