คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ทำความผิด เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประเภทต่าง ๆ ได้ โจทก์ได้ยื่นใบขอรับเงินเมื่อออกจากงานเรียกร้องเอาเฉพาะค่าชดเชยเงินเดือน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเงินโบนัสและเงินบำเหน็จ มิได้เรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยระบุข้อความตอนท้ายว่าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงิน สิทธิและประโยชน์อื่นใดจากจำเลยอีก ข้อความในเอกสารที่โจทก์ลงลายมือชื่อให้ไว้แก่จำเลยดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินประเภทอื่นอันจะพึงได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายส่วนนี้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด นอกจากนี้จำเลยได้ให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาระหว่างเป็นเวลา 410 ชั่วโมง จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 9,471 บาทแต่จำเลยไม่จ่ายให้โจทก์ และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่าเงินเดือนสุดท้ายเป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน 88,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่าตอนที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น โจทก์ได้ทำความตกลงเป็นหนังสือกับจำเลยแล้วว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องสิทธิและประโยชน์อื่นใดจากจำเลยอีกโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 18,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยตามใบขอรับเงินเมื่อออกจากงานเอกสารหมาย ล.9 ว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องเอาเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากจำเลยนั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ซึ่งทำให้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายของโจทก์ระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2524 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานแม่บ้าน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,700 บาท ต่อมาวันที่ 30ตุลาคม 2529 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ทำความผิดและตอนที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น โจทก์ได้ยื่นใบขอรับเงินเมื่อออกจากงานต่อจำเลยเพื่อขอรับเงินประเภทต่าง ๆ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.9 จำเลยได้จ่ายเงินประเภทต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ทำความผิด เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประเภทต่าง ๆ โดยโจทก์ได้ยื่นใบขอรับเงินเมื่อออกจากงานตามเอกสารหมาย ล.9 เรียกร้องเอาเฉพาะค่าชดเชยเงินเดือน ค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัสและเงินบำเหน็จมิได้เรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยระบุข้อความตอนท้ายว่า ‘……………ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินสิทธิและประโยชน์อื่นใดจากบริษัทไฟฟ้าฟิลิปส์แห่งประเทศไทย จำกัด และ/หรือผู้แทนของบริษัทฯ อีกทั้งสิ้น…………’ ข้อความในเอกสารที่โจทก์ลงลายมือชื่อให้ไว้แก่จำเลยดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินประเภทอื่นอันจะพึงได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หนังสือขอสละสิทธิของโจทก์ทำขึ้นหลังจากที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระแต่ตน พ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาจากจำเลย เป็นการทำโดยสมัครใจของโจทก์ การสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมีผลใช้บังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวจากจำเลยอีก ทั้งนี้ตามนับแห่งคำพิพากษาฎีกาที่1353/2531 ระหว่าง นายสำเริง บุญแจ่ม โจทก์บริษัทไฟฟ้าฟิลิปส์แห่งประเทศไทย จำกัด จำเลย ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share