คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ที่บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้อีกกึ่งหนึ่งนั้น ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะพาทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดหลบหนีไป หรือใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุมหลังจากได้กระทำผิดเป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษหนักขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่ายานพาหนะใดเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลพึงสั่งริบตามมาตรา 33(1) นั้นต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ของการกระทำผิดเป็นเรื่องๆไปว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะนั้นในการกระทำผิดหรือไม่
จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะพาสร้อยคอทองคำหลบหนีไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ภายหลังจากจำเลยได้ทำการชิงทรัพย์สำเร็จแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการกระทำผิดชิงสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายรถจักรยานยนต์จึงมิใช่ทรัพย์สินอันพึงริบตามมาตรา 33(1)(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2615/2518)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของผู้เสียหายโดยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญ เมื่อได้ทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ร่วมกันขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์หลบหนีไป เป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดพาทรัพย์ไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง รถจักรยานยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดจึงไม่ริบ

โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15 ที่บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้อีกกึ่งหนึ่งนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะกระทำผิดก็อาจได้รับโทษหนักขึ้น ถ้าหากปรากฏว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะพาทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดหลบหนีไป หรือใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุมหลังจากได้กระทำผิดแล้วก็ต้องได้รับโทษหนักขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นบทบัญญัติมาตรา 340 ตรี จึงเป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้นเท่านั้น หาได้บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดด้วยไม่ ฉะนั้น ปัญหาที่ว่ายานพาหนะใดเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดซึ่งศาลพึงสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) นั้น ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ของการกระทำผิดเป็นเรื่อง ๆ ไปว่า ผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะนั้นในการกระทำความผิดหรือไม่ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นพาหนะพาสร้อยคอทองคำของกลางหลบหนีไปจำเลยทั้งสองมิได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นพาหนะในการกระทำผิดชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใดรถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินอันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่2615/2518 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส โจทก์ นายลาฮูดิง มามุ จำเลย

พิพากษายืน

Share