แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพนักงานของธนาคาร ก. ลักเอาบัตรเงินสดทันใจเอ.ที.เอ็ม. ของธนาคาร ก. นายจ้างแล้วนำไปเข้าเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ ของธนาคาร ก. กดเบิกเงินไปจำนวน 5,000 บาท แม้จำเลยจะมีความประสงค์เพื่อเอาบัตรเงินสดทันใจ เอ.ที.เอ็ม. ที่ลักมาไปกดเบิกเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ แต่ทรัพย์ที่จำเลยลักไปจากธนาคาร ก. นายจ้างเป็นคนละประเภทกัน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน แยกกระทงลงโทษจำเลยได้ การกระทำผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,335(11) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคา 5,030 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปีให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,030 บาท แก่ผู้เสียหาย ความผิดนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก ประกอบด้วยวรรคสอง(ที่ถูกเฉพาะมาตรา 335(11) วรรคแรก) การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปีรวมโทษทั้งสองกระทงเป็นจำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนรัชดาภิเษก ได้ลักเอาบัตรเงินสดทันใจ เอ.ที.เอ็ม หมายเลข 0890 0105 4925 จำนวน 1 ใบราคา 30 บาท ของธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนรัชดาภิเษก นายจ้างขณะได้รับมอบหมายจากนางดารณี ศุภนาฤกษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการให้จัดรหัสของบัตรให้เข้าคู่กัน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2531 เวลาประมาณ10 นาฬิกา จำเลยได้นำบัตรเงินสดทันใจ เอ.ที.เอ็ม ที่ลักมานั้นไปเข้าเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติสาขาห้วยขวางของธนาคารกสิกรไทยนายจ้าง กดเบิกเงินเอาไปจำนวน 5,000 บาท แล้วได้นำบัตรเงินสดทันใจเอ.ที.เอ็ม ดังกล่าวโยนทิ้งน้ำไป คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์ที่จำเลยลักไปจากธนาคารกสิกรไทย นายจ้าง เป็นคนละประเภทกัน แม้จำเลยจะมีความประสงค์เพื่อเอาบัตรเงินสดทันใจ เอ.ที.เอ็ม ที่ลักมาไปกดเบิกเงินจากเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน แยกกระทงลงโทษจำเลยได้การกระทำผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.