แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์มอบข้าวเปลือกไว้กับจำเลยที่ 1 และให้สิทธิแปรสภาพเป็นข้าวสารออกขายได้ หากโจทก์ต้องการขายราคาข้าวเปลือกดังกล่าวจำเลยจะใช้ราคาเป็นเงินสดโดยคิดราคาข้าวเปลือกชนิดและประเภทเดิมในปริมาณเดียวกันเป็นข้อตกลงที่ให้กรรมสิทธิ์ในข้าวเปลือกตกเป็นของจำเลยแล้ว เพียงแต่จะคิดราคากันในภายหลังและต้องใช้ราคาโดยไม่ต้องคืนทรัพย์ที่รับไว้ ดังนี้ เป็นการซื้อขายวิธีหนึ่งหาใช่รับฝากทรัพย์ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการโรงสีข้าวจำเลยที่ 1 ได้รับมอบข้าวเปลือกหอมมะลิไปจากโจทก์ โดยมีข้อตกลงกันว่า ข้าวเปลือกที่เก็บไว้นั้นจำเลยมีสิทธิที่จะสีเป็นข้าวสารนำออกขายได้ และหากโจทก์บอกกล่าวว่าจะขายเมื่อใด จำเลยที่ 1 จะชดใช้ราคาให้เป็นเงินสดตามราคาข้าวเปลือกในท้องตลาดขณะนั้น ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2529 ข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคาสูงขึ้นซื้อขายกันในท้องตลาดประมาณกิโลกรัมละ 3 บาท โจทก์จึงแจ้งแก่จำเลยที่ 1ว่าต้องการขายข้าวทั้งหมด แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ยอมชำระเงินจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ จะต้องร่วมกันรับผิดขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 508,908 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์หรือค้าขายกับโจทก์ไม่เคยได้รับมอบข้าวเปลือกและมีข้อตกลงกับโจทก์ดังฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการฝากข้าวอยู่นอกเหนือขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2529 ราคาซื้อขายข้าวหอมมะลิในท้องตลาดตกกิโลกรัมละ 2 บาท เท่านั้น และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 508,908บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีดังต่อไปนี้
ประการแรก การที่โจทก์มอบข้าวเปลือกไว้กับจำเลยที่ 1 และให้สิทธิจำเลยที่ 1 แปรสภาพเป็นข้าวสารออกขายเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 หรือไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าโจทก์ได้นำข้าวเปลือกจำนวน 28 คันรถน้ำหนัก 169,636 กิโลกรัม ไปมอบให้จำเลยที่ 1 ไว้และให้สิทธิจำเลยที่ 1 แปรสภาพเป็นข้าวสารออกขายได้ หากโจทก์มีความประสงค์ต้องการขายข้าวเปลือกดังกล่าวเมื่อใดจำเลยที่ 1 จะใช้ราคาเป็นเงินสด โดยคิดราคาข้าวเปลือกชนิดและประเภทเดิมในประมาณเดียวกัน เห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการให้กรรมสิทธิ์ในข้าวเปลือกตกเป็นของจำเลยแล้ว เพียงแต่จะคิดราคากันในภายหลังเท่านั้น และต้องใช้ราคาโดยไม่ต้องคืนทรัพย์ที่รับไว้ จึงเป็นการซื้อขายวิธีหนึ่งหาใช่รับฝากทรัพย์ไม่ ไม่นอกวัตถุประสงค์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 โจทก์มีอำนาจฟ้อง…”
พิพากษายืน.