คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบอกเลิกการเช่าซึ่งโจทก์บอกกล่าวแก่ห้างจำเลยที่ 1 โดยส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับถือว่าได้บอกกล่าวโดยชอบแล้ว
โจทก์เรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าที่พิพาทอยู่ในย่านชุมชน มีรถประจำทางผ่านหลายสาย ถ้าโจทก์นำไปสร้างศูนย์การค้าหรืออาคารชุด (คอนโดมิเนียม) จะมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท แต่เป็นเพียงความคาดหมายไม่แน่นอนว่าจะมีรายได้เท่านั้นจริงศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่เห็นสมควร
ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีเป็นดุลพินิจคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือดำเนินคดีของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๐๙ แขวงบางซื่อ (บางซ่อน)เขตบางซื่อ (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๓ ไร่ ๗๐ ตารางวา โดยรับซื้อฝากมาจากนางช้อง ขำสายทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการ เช่าที่ดินบางส่วนตามโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ ๑ ไร่เศษจากเจ้าของเดิมประกอบกิจการโรงเลื่อยจักรมีกำหนด ๑๒ ปี ครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว จำเลยก็ยังใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนนี้อยู่ โจทก์ประสงค์จะใช้ประโยชน์จากที่ดินแปลงนี้ ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหายขาดค่าเช่าที่จะพึงได้รับจากที่ดินส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นวันที่กรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารรวมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปกับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๓ จนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินตามฟ้อง ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินดังกล่าวเป็นของนายห้อย มงคลฤกษ์ บิดานางช้อง นางช้องไม่มีสิทธิเอาที่ดินนี้ไปขายฝากให้โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้เช่าที่ดินส่วนนี้จากเจ้าของเดิมและจำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนี้ ไม่มีสิทธิรื้อถอนขนย้ายได้ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวจำเลยออกไป จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายได้และค่าเสียหายนี้ก็ไม่เกินเดือนละ ๘๔๘ บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและเป็นฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินตามฟ้อง ห้ามเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๒,๐๐๐บาท นับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๑ จนกว่าจะออกไปจากที่พิพาทตามคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมเท่าที่โจทก์ชนะคดีแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๑ นั้น เกินคำขอตามฟ้อง โดยโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๓ ถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๒๑ เดือนและค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ต่ำไป พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒๑๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเดือนละ๑๐,๐๐๐ บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่พิพาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ในปัญหาเกี่ยวกับการบอกกล่าวเลิกการเช่า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลังจากสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปโดยหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับถือว่าได้บอกกล่าวโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมออกไปทั้งที่ไม่มีสิทธิอยู่ในที่พิพาท โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้
ในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าค่าเสียหายไม่ควรเกินเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.๑ และ ล.๓ ที่ทำเมื่อวันที่๑ มิถุนายน ๒๕๐๙ ข้อ ๒ ผู้เช่าต้องเสียค่าเช่าล่วงหน้าหรือที่เรียกว่าเงินกินเปล่าให้ผู้ให้เช่าเป็นเงิน ๑๒๒,๑๑๒ บาท ระยะเวลา ๑๒ ปี เฉลี่ยค่าเช่าล่วงหน้าเดือนละ ๘๐๐ กว่าบาท และสัญญาข้อ ๔ ต้องชำระค่าเช่ารายเดือน เดือนละ ๘๔๘ บาทค่าเช่าในระยะ ๑๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงตกเดือนละ ๑,๖๐๐ กว่าบาท โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ และนำสืบว่าที่พิพาทอยู่ในย่านชุมชน มีรถประจำทางผ่านหลายสาย ถ้าโจทก์นำไปสร้างศูนย์การค้าหรืออาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ก็จะมีรายได้เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ก็เป็นเพียงความคาดหมายที่ไม่แน่นอนและในการนี้โจทก์ก็จะต้องลงทุนเป็นจำนวนสิบสิบล้านบาทขึ้นไป ดังนั้นค่าเสียหายที่โจทก์จะพึงได้รับ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท
ในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชนะในประเด็นค่าเสียหายควรจะให้โจทก์รับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แต่กลับให้จำเลยรับผิดเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเกี่ยวกับความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือดำเนินคดีของคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้จำเลยรับผิดในเรื่องค่าเสียหายก็เพียงกำหนดระยะเวลาน้อยลง แต่กลับเพิ่มค่าเสียหายขึ้นอีกถึงห้าเท่าตัว ซึ่งเท่ากับจำเลยแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ทุกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๕,๐๐๐ บาทตั้งแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๓ จนกว่าจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่พิพาทเรียบร้อย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share