คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2691/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุกับจำเลยร่วม จำเลยที่ 3 เป็นภรรยาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุในกิจการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างให้ ป. ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปส่งข้าวเปลือกที่จังหวัดปทุมธานี ระหว่างทางเกิดชนกับรถยนต์ปิกอัพที่ม.ขับมา เป็นการจ้างเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจร่วมกันของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของ ป. ด้วยจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2527 นายเปี๊ยกไม่ทราบนามสกุล ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4353ลพบุรี ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยทั้งสามด้วยความประมาทชนรถยนต์ปิกอัพหมายเลขทะเบียน ม-0751 พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีนายมีชัย เสริมพงศ์ สามี โจทก์ที่ 3 และบิดาของเด็กชายณัฐวงศ์ เสริมพงศ์ ขับมา เป็นเหตุให้นายมีชัยกับผู้ที่นั่งมาในรถยนต์ปิกอัพคือนายพยนต์ เลื่อมประไพ บุตรของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บสาหัสขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2เป็นเงิน 219,500 บาท โจทก์ที่ 3 กับเด็กชายณัฐวงศ์เป็นเงิน1,270,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 2 ที่ 3และนายเปี๊ยก จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-4353 จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยบรรทุกคันดังกล่าวกับจำเลยร่วม จำเลยที่ 2 จะนำรถยนต์บรรทุกไปหาประโยชน์ใด ๆ เป็นสิทธิของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้ยุ่งเกี่ยวด้วยและมิได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายเปี๊ยกขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ที่ 3และนายเปี๊ยก เหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทของนายมีชัยฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสามสำนวนขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเรียกให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด ผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเข้าเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของจำเลยที่ 1
จำเลยร่วมให้การว่า เหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทของนายมีชัยฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว และมิใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายเปี๊ยก จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกไว้จากจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทุกคน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วม ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่ ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่จำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย เพราะจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมิได้ร่วมใช้ประโยชน์หรือร่วมเป็นนายจ้างของคนขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวด้วยนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นภรรยาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมาจากจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์บรรทุกมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างให้นายเปี๊ยกขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกข้าวเปลือกจากท่าข้าวอำเภอพยุหะคีรีไปส่งยังปลายทางที่จังหวัดปทุมระหว่างทางเกิดชนกับรถยนต์ปิกอัพคันที่นายมีชัยขับมา เป็นการจ้างเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจร่วมกันของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นนายจ้างของคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่จำเลยร่วมรับประกันภัยไว้ด้วย จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share