คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีแรงงานมีลักษณะพิเศษแตกต่างกับคดีแพ่งธรรมดาการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวก ประหยัด และรวดเร็วฉะนั้นการที่โจทก์ขอถอนฟ้องโดยแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาต่อศาล แม้จะเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยยื่น คำให้การแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ทราบและได้แถลงคัดค้านต่อศาลแล้ว ซึ่งตรงตามความมุ่งหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง(1) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานมาตรา 31 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ3,500 บาท ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2531 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุพักกิจการ และโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ทำงานมาแล้วเกินกว่า3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้าย 180วัน เป็นเงิน 21,000 บาท นอกจากนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2531 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2532 เป็นเวลา46 วัน เป็นเงิน 5,366 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ยอมชำระขอให้จำเลยจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 5,366 บาทและค่าชดเชย 21,000 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นลูกจ้างจำเลย แต่เป็นลูกจ้างของบุคคลอื่นโจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำ เพราะโจทก์ทำงานโดยมีกำหนดเวลาไม่แน่นอน การที่จำเลยตกลงหยุดการบริหารด้านการเงินและการตลาดให้บุคคลอื่นนั้น ไม่เกี่ยวกับโจทก์ และการที่จะให้โจทก์ทำงานต่อไปหรือไม่ หรือโอนสิทธิและหน้าที่ในการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นอำนาจของผู้เป็นนายจ้างมิใช่จำเลย โจทก์ทราบเรื่องการหยุดทำงานของจำเลยและการหยุดกิจการของบุคคลที่โจทก์ทำงานด้วยเป็นเวลาเกินกว่า 1 เดือนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางได้ทำการชี้สองสถานโดยกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อน และให้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์2532 ครั้นถึงวันนัด โจทก์ขอเลื่อนคดีไป ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 มีนาคม 2532 ในวันนัดดังกล่าวโจทก์แถลงขอถอนฟ้องเนื่องจากฟ้องเดิมผิดพลาด และจะดำเนินการฟ้องใหม่เข้ามา จำเลยแถลงคัดค้านในการที่โจทก์ขอถอนฟ้องศาลแรงงานกลางเห็นว่ากรณีมีเหตุสมควร จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การถอนฟ้องของโจทก์กระทำภายหลังเมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ต้องทำเป็นคำร้องขอ การที่โจทก์แถลงด้วยวาจาขอถอนฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแรงงานซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างกับคดีแพ่งธรรมดา การดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวก ประหยัดและรวดเร็ว แม้แต่คำฟ้องของโจทก์ก็สามารถมาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลก็ได้ และจำเลยก็มีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้หรือในวันนัดพิจารณา จำเลยจะให้การด้วยวาจาก็ได้ คำให้การดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาต่างก็เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับคดีนี้แม้โจทก์จะถอนฟ้องโดยแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ทราบและได้แถลงคัดค้านต่อศาลดังกล่าวแล้ว ตรงตามความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจึงชอบแล้วอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share