คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทธุรกิจเงินทุนและค้าหลักทรัพย์ เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมการบริหาร และจำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นเจ้าหน้าที่บริหาร จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นผู้บริหารและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อขายหลักทรัพย์และจดทะเบียนหลักทรัพย์ในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เอาหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ไปขายโดยไม่ได้รับคำสั่งจากโจทก์โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยทั้งหก โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ฟ้องจำเลยทั้งหกในความผิดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพ.ศ. 2517 มาตรา 21,42 วรรคสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทธุรกิจเงินทุนและค้าหลักทรัพย์มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4เป็นกรรมการผู้จัดการฝ่ายหลักทรัพย์และลงทุน จำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์โครงการจำเลยที่ 6 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนและนายหน้าในการซื้อและขายหลักทรัพย์ของโจทก์ ซึ่งเป็นใบหุ้นของบริษัทจำกัดต่าง ๆ แทนโจทก์ โดยกระทำตามคำสั่งของโจทก์แต่ละครั้งไป โดยโจทก์ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปวางไว้เป็นประกันและเปิดบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยที่ 1 ใบหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์โจทก์สั่งซื้อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองไว้แทนโจทก์เพื่อเป็นหลักประกันกับได้ทำหนังสือมอบอำนาจและแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าและตัวแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 12 และ 30 มีนาคม 2522 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์โดยทำหนังสือบอกกล่าวโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อหุ้นของบริษัทราชาเงินทุนจำกัดให้โจทก์ตามคำสั่งรวม 1,500 หุ้นโดยระบุว่าจำนวนหุ้นและราคาหุ้นต่อหน่วย และได้ออกใบแจ้งหนี้ว่า โจทก์เป็นลูกหนี้รวมเป็นเงิน1,468,305 บาทให้โจทก์ลงชื่อยืนยันการซื้อ โจทก์หลงเชื่อตามคำหลอกลวงของจำเลยจึงลงชื่อในเอกสารดังกล่าว ซึ่งความจริงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ไม่ได้ซื้อหุ้น ไม่ได้ออกเงินทดรองจ่ายซื้อหุ้นให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันครอบครองใบหุ้นของบริษัทราชาเงินทุนจำกัดของโจทก์จำนวน 200 หุ้น โดยไม่ได้รับคำสั่งให้ขายจากโจทก์ ได้เบียดบังเอาใบหุ้นดังกล่าวของโจทก์เป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสามขายหุ้นของโจทก์ไป โดยประพฤติผิดหน้าที่โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของโจทก์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินและเมื่อระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2522 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2522จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันปลอมแปลงตราสารโอนหุ้นโอนหุ้นบริษัทราชาเงินทุนจำกัดจากชื่อโจทก์เจ้าของหุ้นเป็นของบุคคลอื่นโดยระบุข้อความแสดงว่าโจทก์โอนหุ้นจำนวน 200 หุ้นไปแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นของบริษัทราชาเงินทุนจำกัด จนนายทะเบียนโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 352, 353, 354, 264, 265, 268, 83, 50 พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 42

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีมูลในความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 6 มีมูลเฉพาะในความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยที่ 5 คดีไม่มีมูลและคดีจำเลยที่ 1 มีมูลในความผิดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 42 ด้วย และคดีจำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 ไม่มีมูลในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ประทับฟ้องเฉพาะความผิดที่มีมูล นอกนั้นให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้สมาชิก ฯลฯ (2) กระทำการใด ๆ โดยมีเจตนาทุจริตในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์อนุญาต’ หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เอาหลักทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ไปขายโดยไม่ได้รับคำสั่งจากโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยทั้งหก โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 21(2) บัญญัติห้ามสมาชิกตลาดหลักทรัพย์กระทำการทุจริตเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียหาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกในข้อหาดังกล่าวได้ และคดีได้ความว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ 1 และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อขายหลักทรัพย์และจดทะเบียนหลักทรัพย์ในนามจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติว่า ‘ในกรณีที่สมาชิกกระทำผิดเพราะฝ่าฝืนตามมาตรา 21 กรรมการของสมาชิกหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของสมาชิก ต้องระวางโทษฯ’ ดังนี้ เมื่อคดีจำเลยที่ 1 มีมูลว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 21 และมาตรา 42 คดีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ย่อมมีมูลด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 21 และมาตรา 42 วรรคสอง อีกข้อหาหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share