คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346-3348/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบของจำเลยกำหนดให้หักเงินรายได้จากค่าขนส่งสินค้าส่วนที่เป็นของกรรมกรไว้เป็นเงินบำรุงความสุข เพื่อจ่ายเป็นบำเหน็จพิเศษให้แก่กรรมกรเมื่อถึงแก่กรรม ลาออกหรือถูกให้ออก จำเลยจะจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของจำเลยได้ในกรณีที่มีการหักรายจ่ายจากกองเงินบำรุงความสุขเท่านั้น เงินบำรุงความสุขเป็นเงินของกรรมกร ไม่ใช่เงินของจำเลย และเป็นเงินคนละประเภทกับค่าชดเชย เมื่อค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องจ่ายมิใช่รายจ่ายที่จำเลยจะพึงใช้สิทธิหักได้จากเงินบำเหน็จพิเศษจำเลยก็จะลดจำนวนบำเหน็จพิเศษตามสิทธิที่กรรมกรจะได้รับลงเพราะเหตุที่จำเลยจะต้องนำไปจ่ายเป็นค่าชดเชยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่กรรมการขนส่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุยุบการดำเนินการขนส่ง ในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยจำเลยหักเงินค่าจ้างโจทก์ไว้ทุกเดือนโดยจะจ่ายคืนเป็นบำเหน็จพิเศษให้ในกรณีลาออกหรือถึงแก่กรรม หรือให้ออก จำเลยจ่ายบำเหน็จพิเศษให้โจทก์ไม่ครบโดยนำจำนวนที่เหลือไปแบ่งจ่ายเป็นค่าชดเชย จำเลยจึงค้างจ่ายบำเหน็จพิเศษแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษที่ค้างแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เงินบำเหน็จพิเศษเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่กรรมกรขนส่งเมื่อลาออกจากงานหรือถูกให้ออกจากงานโดยพิจารณาจ่ายจากกองเงินบำรุงความสุขตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบการขนส่ง โดยแบ่งมาจากเงินค่าจ้างการขนสินค้าขึ้นลงมิใช่ส่วนที่เป็นค่าจ้างของโจทก์ ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้เป็นสิทธิของจำเลยเป็นผู้พิจารณาจ่ายโดยคำนึงถึงรายจ่ายของกองเงินบำรุงความสุขเป็นสำคัญ กรณีของโจทก์ได้พิจารณาเห็นสมควรจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับ ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษอีก ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษที่ขาดให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามระเบียบการขนส่งของจำเลยกำหนดให้หักเงินรายได้จากค่าขนส่งสินค้าส่วนที่เป็นของกรรมกรไว้เป็นเงินบำรุงความสุข จึงเป็นเงินส่วนที่เป็นของกรรมกรซึ่งจำเลยหักไว้ หาใช่เป็นเงินของจำเลยไม่ ส่วนค่าชดเชยนั้นเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นเงินคนละประเภทกับเงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามระเบียบการขนส่งของจำเลย ระเบียบการขนส่งกำหนดว่า กรรมกรซึ่งทำงานติดต่อกันมาด้วยความเรียบร้อยขยันขันแข็งครบ ๕ ปีบริบูรณ์ หากถึงแก่กรรมหรือลาออกหรือถูกให้ออก ย่อมได้รับการพิจารณาเมื่อเห็นสมควรจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้เป็นการตอบแทนคุณความดีในอัตราไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบห้าของเงินบำรุงความสุขที่หักไว้ตามส่วนเฉลี่ยของแต่ละปีของหน่วยงานนั้น การจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้คำนึงถึงรายจ่ายจากกองทุนบำรุงความสุขเป็นสำคัญ ถ้าเงินบำรุงความสุขหักรายจ่ายแล้วมีไม่ถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ก็ให้ลดลงตามส่วน จะเห็นได้ว่าเงินบำเหน็จพิเศษที่กรรมกรจะได้รับตามระเบียบการขนส่งของจำเลยต้องถือหลักการจ่ายเท่ากับร้อยละเจ็ดสิบห้าของเงินบำรุงความสุขที่หักไว้ตามส่วนเฉลี่ยของแต่ละปีของหน่วยงานนั้นเป็นเกณฑ์คำนวณ กรณีที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษต่ำกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของเงินบำรุงความสุขมีได้เฉพาะเมื่อมีการหักรายจ่ายเท่านั้น ค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องจ่ายแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิใช่รายจ่ายที่จำเลยจะพึงใช้สิทธิหักได้จากเงินบำเหน็จพิเศษตามระเบียบการขนส่ง ดังนั้น จำเลยจะลดจำนวนบำเหน็จพิเศษตามสิทธิที่โจทก์ได้รับลงเพราะเหตุที่จำเลยต้องนำไปจ่ายเป็นค่าชดเชยหาได้ไม่ แต่จำเลยได้นำเงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์ควรจะได้รับตามระเบียบดังกล่าวไปจ่ายเป็นค่าชดเชย ทำให้เงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์ควรจะได้รับขาดจำนวนไปเท่ากับค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษแก่โจทก์ตามจำนวนที่ขาดไป
พิพากษายืน

Share