คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2688/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยมีว่าพนักงานที่ได้รับการปลดเกษียณจะได้รับเงินบำเหน็จหรือค่าชดเชยอื่นๆ ในการเลิกจ้าง ทั้งนี้จำเลยจะจ่ายให้เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่งที่มากกว่า ฉะนั้น การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแต่อย่างเดียวหามีผลเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วยไม่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อโจทก์เกษียณอายุจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 112,157 บาท 50 สตางค์ ตามกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับพนักงานประจำที่มิใช่ฝ่ายจัดการตามเอกสารหมาย ล.2 มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยอีกหรือไม่ ตามกฎและข้อบังคับดังกล่าวข้อ ก. 39.4 มีข้อความว่า “พนักงนที่ได้รับการปลดเกษียณจะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับอัตราค่าจ้างปกติเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีบริบูรณ์ที่ได้ทำงานกับบริษัท ฯ หรือค่าชดเชยอื่น ๆ ในการเลิกจ้างตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะมีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้บริษัทฯ จะจ่ายให้เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่งที่มากกว่า และจะเป็นผู้ออกภาษีเงินได้ส่วนบุคคลให้ เท่ากับเป็นการกำหนดว่ากรณีพนักงานผู้ครบเกษียณมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชยแล้วก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นการตัดสิทธิของพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ค่าชดเชย” ไว้ว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง” เป็นที่เห็นได้ว่าเงินบำเหน็จนั้นถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย หากเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างคือจำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างอยู่ก่อนแล้ว และค่าชดเชยนี้จะตกลงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานหาได้ไม่ เว้นแต่จะเป็นการจ่ายให้ในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉะนั้นการที่จำเลยกำหนดตามกฎและข้อบังคับข้อ ก. 39.4 ให้โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จแต่จำนวนเดียวโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงหามีผลบังคับไม่ โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยมีผลเป็นการจ่ายค่าชดเชยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 25,200 บาท แก่โจทก์

Share