คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2684/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ (ยุทโธปกรณ์ทางทหาร) ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์มาส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อ 17 ระบุว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการรับจัดบริการขนส่ง เป็นต้นว่า ไม่สามารถที่จะควบคุมสั่งการประสานงานกับตัวแทนจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทก์ที่ 1 มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องควบคุมสั่งการประสานงานกับตัวแทนจัดการขนส่งให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่จำเลยที่ 1 ขัดแย้งกับตัวแทนจัดการขนส่งถึงขนาดบอกเลิกการเป็นตัวแทนจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์อีกต่อไปและทำให้ตัวแทนจัดการขนส่งกักสิ่งอุปกรณ์ที่โจทก์ที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดบริการขนส่งไว้นั้น ต้องด้วยกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมตัวแทนจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ ข้อ 17 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่สามารถจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่เสียหายในการดำเนินการจัดส่งคณะผู้แทนและทนายความของโจทก์ที่ 1 ไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามเอาคืนสิ่งอุปกรณ์ที่ถูกกักเก็บโดยตัวแทนจัดการขนส่งของจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำสิ่งอุปกรณ์ออกจากโกดังของตัวแทนจัดการขนส่งดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งมายังประเทศไทย รวมทั้งความเสียหายเนื่องจากสิ่งอุปกรณ์บุบสลายและสูญหาย อันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจัดการขนส่งให้ได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ มิใช่กรณีฟ้องผู้ขนส่งให้รับผิดในกรณีที่ดำเนินการขนส่งสินค้าแล้วสินค้าสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้าในระหว่างการขนส่งซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่ส่งมอบหรือวันที่ควรจะได้ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสี่จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อจำเลยที่ ๑ เป็นเงินไม่เกิน ๗,๓๐๓,๐๗๑.๑๐ บาท รับผิดต่อโจทก์ที่ ๒ เป็นเงินไม่เกิน ๑๓,๖๐๗,๓๘๐.๒๙ บาท รับผิดต่อโจทก์ที่ ๓ เป็นเงินไม่เกิน ๕๐๑,๖๓๘.๐๕ บาท และรับผิดต่อโจทก์ที่ ๔ เป็นเงินไม่เกิน ๘,๕๗๓,๑๓๐.๙๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ โดยให้จำเลยที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๕,๓๗๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในเงินต้น ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์จากประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทยเป็นการขนส่งทางทะเลและเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ สัญญาระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศ และเหตุคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ๒๕๓๑ ถึงปี ๒๕๓๒ ซึ่งในขณะนั้น พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ ยังไม่บังคับใช้ คดีนี้จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา ๖๒๔ ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันส่งมอบหรือนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงขาดอายุความแล้ว หากฟังว่ามีอายุความ ๑๐ ปี ก็ขาดอายุความเช่นกันเพราะนับแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ อันเป็นวันแจ้งการสิ้นสุดสัญญาจนถึงวันฟ้องเกิน ๑๐ ปีแล้ว ในคดีของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๗๖๔๓/๒๕๔๑ ศาลแพ่งได้จำหน่ายคดีเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ เพราะคดีอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ซึ่งพ้นระยะ ๖๐ วัน ตามมาตรา ๑๙๓/๑๗ วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๑ และมิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ ๑ ดังนั้น โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีนี้ จำเลยที่ ๑ มิได้ปฏิบัติผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความและโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ได้ขนส่งสิ่งอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นหนี้ของจำเลยที่ ๑ จึงระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ทั้งสี่ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๒,๓๐๓,๐๗๑.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ ชำระเงิน ๓,๙๖๒,๙๓๔.๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒ ชำระเงิน ๔๕๘,๒๕๙.๓๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๓ และชำระเงิน ๘,๔๑๙,๓๗๕.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๔ และให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ ๑ โดยชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๑ ภายในวงเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๘๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสี่ชนะคดี
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ โจทก์ที่ ๑ ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ทำการขนส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ทางราชการจัดซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยขนส่งสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกาหรือที่แห่งใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอนุมัติจ่ายสิ่งอุปกรณ์นั้นมายังประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ใช้ประโยชน์แก่ทางราชการ และขนส่งสิ่งอุปกรณ์จากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการซ่อมบำรุงหรือบริการมีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เป็นต้นไป ซึ่งจำเลยที่ ๑ จะต้องทำสัญญาว่าจ้างบริษัทตัวแทนจัดการขนส่ง (Freight Forwarder) โดยความเห็นชอบของโจทก์ที่ ๑ ตามสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ ในการทำสัญญาดังกล่าวมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ที่ ๑ ในวงเงินไม่เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งแก่โจทก์ที่ ๑ ว่าบริษัท ฮ. เป็นตัวแทนจัดการขนส่ง และจำเลยที่ ๑ ได้รับสิ่งอุปกรณ์จากคลังในประเทศสหรัฐอเมริกานำส่งให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ หลายครั้ง ต่อมาวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญากับบริษัท ฮ. ในการเป็นตัวแทนจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ โจทก์ที่ ๑ ได้แจ้งการสิ้นสุดสัญญาแก่จำเลยที่ ๑ พร้อมกับให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบหลักฐานและจัดการหนี้สินต่าง ๆ ที่ผูกพันอยู่ให้เรียบร้อย ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา จำเลยที่ ๑ มิได้ส่งมอบสิ่งอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ที่ ๑ ตามสัญญา เนื่องจากบริษัท ฮ. กักสิ่งอุปกรณ์ไว้ที่โกดังในประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาระหว่างวันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๓ คณะผู้แทนและทนายความของโจทก์ที่ ๑ เดินทางไปเจรจากับผู้รับผิดชอบของบริษัท ฮ. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ส่งสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งสามารถตกลงกันได้ เมื่อบริษัท ท. ซึ่งเป็นผู้รับจัดบริการขนส่งรายใหม่ได้ขนส่งสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ปรากฏว่ามีสิ่งอุปกรณ์ส่วนหนึ่งสูญหายและชำรุดเสียหาย ต่อมาวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๖๔๓/๒๕๔๑ และเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๒ ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งระหว่างประเทศ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นประการแรกว่า จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๑ มีปัญหาขัดแย้งกับบริษัท ฮ. ในเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ของค่าขนส่งสิ่งอุปกรณ์ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ บอกเลิกสัญญามิให้บริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์อีกต่อไป ปัญหาจึงมีว่า กรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติผิดสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ข้อ ๑๗ ระบุว่า เมื่อโจทก์ที่ ๑ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการรับจัดบริการขนส่ง เป็นต้นว่า สถานภาพทางการเงิน การบริหารงานไม่สามารถที่จะควบคุมสั่งการประสานงานกับตัวแทนจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทก์ที่ ๑ มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ โดยจะแจ้งการบอกเลิกล่วงหน้า ๙๐ วัน เห็นได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องควบคุมสั่งการประสานงานกับตัวแทนจัดการขนส่งให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่จำเลยที่ ๑ ขัดแย้งกับบริษัท ฮ. ถึงขนาดบอกเลิก มิให้เป็นตัวแทนจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์อีกต่อไปและทำให้บริษัท ฮ. กักสิ่งอุปกรณ์ไว้นั้น ต้องด้วยกรณีที่จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถควบคุมตัวแทนจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ ๑ จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของทั้งโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่เกี่ยวกับค่าเสียหายแต่ละส่วนขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่สามารถจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่เสียหายในการดำเนินการจัดส่งคณะผู้แทนและทนายความของโจทก์ที่ ๑ ไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามเอาคืนสิ่งอุปกรณ์ที่ถูกกักเก็บโดยบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการขนส่งของจำเลยที่ ๑ และโจทก์ ๒ ถึงที่ ๔ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำสิ่งอุปกรณ์ออกจากโกดังของบริษัทดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งมายังประเทศไทย รวมทั้งความเสียหายเนื่องจากสิ่งอุปกรณ์บุบสลายและสูญหาย อันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถจัดการขนส่งให้ได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ มิใช่กรณีฟ้องผู้ขนส่งให้รับผิดในกรณีที่ดำเนินการขนส่งสินค้าแล้วสินค้าสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้าในระหว่างการขนส่งซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ ๑ ปี นับแต่ส่งมอบหรือวันที่ควรจะได้ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๒๔ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสี่ในค่าเสียหายทั้งหมด จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๐ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑ ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยแจ้งบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า ๙๐ วัน ซึ่งครบกำหนด ๙๐ วัน ในวันสิ้นสุดของสัญญาคือวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสี่ในการเรียกเอาเงินค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน ๑๐ ปี จึงยังไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๔๖๔,๖๗๔.๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๓ และชำระเงินจำนวน ๘,๕๑๕,๓๙๙.๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๔ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share