แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ผู้มั่วสุมต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 โดยการมั่วสุมยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรา 215 แต่หากต่อมาผู้นั้นกระทำการดังที่มาตรา 215บัญญัติไว้ต่อไป ก็จะมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกรวมกัน 10 คน ชุมนุมปราศรัยด้วยความสงบ ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 กับพวกมิได้มั่วสุมโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 215 แม้เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการมั่วสุมแล้วไม่เลิก จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 216
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27พฤษภาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยงติดต่อกัน จำเลยทั้งสี่กับพวกอีก 6 คน ร่วมกันย้ายศพนายกระจ่าง เกตุแก้ว จากบ้านเลขที่ 41/1 หมู่ 7 ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นสถานที่และบ้านที่มีการตายไปยังบริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนผู้รับแจ้ง และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการให้มีการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยกล่าวปราศรัยโจมตีกล่าวหาเจ้าพนักงานตำรวจว่าไม่จับกุมคนร้ายที่ยิงนายกระจ่าง พูดชักชวนราษฎรจากอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชให้มาร่วมในการมั่วสุมด้วย ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้จำเลยทั้งสี่เลิกทำการมั่วสุมดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมเลิก เหตุเกิดที่ตำบลที่วัง อำเภอทุ่งสง และตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 215, 216 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2534 มาตรา 24, 47
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีพฤติกรรมแสดงว่าอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 นั้น พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุก…” ส่วนมาตรา 215บัญญัติว่า “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุก…” เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 นั้น ผู้มั่วสุมนั้นต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยการมั่วสุมนั้นยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรา 215 แต่หากต่อมาผู้นั้นกระทำการดังที่มาตรา 215 บัญญัติไว้ต่อไป ก็จะมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกรวมกัน 10 คน ชุมนุมปราศรัยด้วยความสงบ ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 215 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกมิได้มั่วสุมโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 แม้เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการมั่วสุมแล้วไม่เลิก จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน