แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบรถที่เช่าซื้อไปจากโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน 24 งวด จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน แต่เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายชำระค่าเช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาในงวดที่ 1 ถึงที่ 3 และงวดที่ 5 ถึงที่ 7 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา ส่วนที่โจทก์ได้รับชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วเพียงใด และโจทก์นำรถที่เช่าซื้อไปให้บุคคลภายนอกเช่าซื้อในราคาเท่าใด เป็นข้อพิจารณาในชั้นกำหนดค่าเสียหายให้เป็นจำนวนที่พอสมควร
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระและนำสืบว่าค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ 6 งวดเป็นเงิน 900,000 บาท ที่โจทก์นำสืบด้วยว่าหากโจทก์นำรถที่เช่าซื้อออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เป็นการนำสืบให้เห็นถึงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินของโจทก์อีกทางหนึ่ง จึงหาเป็นการนำสืบนอกคำฟ้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นายสมชาย เลิศอริยานันท์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญของบริษัทมอบอำนาจให้นางอภิสร เพียศักดิ์ ฟ้องคดีแทน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถเกลี่ยดินจากโจทก์ในราคา ๓,๔๐๐,๐๐๐ บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน รวม ๒๔ งวด งวดที่ ๑ ถึงที่ ๔ งวดละ ๑๗๕,๐๐๐ บาท งวดที่ ๕ ถึงที่ ๒๔ งวดละ ๑๒๕,๐๐๐ บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๘ มีจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๔ เพียงงวดเดียวยังเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อ ๖ งวด เป็นเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถที่เช่าซื้อกลับคืนมาเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ นำรถที่เช่าซื้อไปหาประโยชน์เป็นเวลา ๘ เดือน หากโจทก์นำไปรับจ้างจะได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับเป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อ ที่ค้างชำระเป็นเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมค่าเสียหายค่าซ่อมรถที่เช่าซื้อให้กลับคืนในสภาพเดิม จำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงิน ค่าเช่าซื้อมาบ้างแล้วและโจทก์ได้รับรถที่เช่าซื้อกลับคืนมา โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายจากค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระเพียงอย่างเดียวเป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถเกลี่ยดินไปจากโจทก์ในราคา ๓,๔๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ชำระเงินวันทำสัญญา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือนรวม ๒๔ งวด งวดที่ ๑ ถึงที่ ๔ งวดละ ๑๗๕,๐๐๐ บาท งวดที่ ๕ ถึงที่ ๒๔ งวดละ ๑๒๕,๐๐๐ บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๘ โดยมีจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. ๔ และ จ. ๕ จำเลยที่ ๑ ออกเช็คชำระค่าเช่าซื้อทั้ง ๒๔ งวด ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้อแต่ละงวดโจทก์ได้เรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่าเรียกเก็บเงินตามเช็คได้เฉพาะค่าเช่าซื้องวดที่ ๔ ส่วนเช็คชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๑ ถึง ๓ และงวดที่ ๕ ถึงที่ ๗ ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ โจทก์ได้รับรถที่เช่าซื้อคืน และโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยทั้งสามแล้วโจทก์นำรถที่เช่าซื้อไปให้บุคคลภายนอกเช่าซื้อได้ราคาต่ำกว่าที่ให้จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเพราะโจทก์นำรถที่เช่าซื้อไปให้บุคคลภายนอกเช่าซื้อในราคาต่ำกว่าที่ให้จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ไปแล้ว ๓๗๕,๐๐๐ บาท และตามคำฟ้องโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเฉพาะค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระ แต่โจทก์กลับนำสืบว่าโจทก์ขาดประโยชน์จากการที่จำเลยที่ ๑ นำรถที่เช่าซื้อไปใช้เป็นเวลา ๘ เดือน เป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ กลับวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามรับผิดในค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์พึงจะได้รับจากการนำรถที่เช่าซื้อออกให้เช่า จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบรถที่เช่าซื้อไปจากโจทก์โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ ๑ จะชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ๒๔ งวด จำเลยที่ ๑ ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน แต่เช็คที่จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายชำระค่าเช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาในงวดที่ ๑ ถึงที่ ๓ และงวดที่ ๕ ถึงที่ ๗ ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระค่าเช่าซื้อ ๖ งวดดังกล่าว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา ส่วนที่โจทก์ได้รับชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วเพียงใด และโจทก์นำรถที่เช่าซื้อไปให้บุคคลภายนอกเช่าซื้อในราคาเท่าใดเป็นข้อพิจารณาในชั้นกำหนดค่าเสียหายให้เป็นจำนวนที่พอสมควรเท่านั้น โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระ และโจทก์ก็นำสืบแล้วว่าค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระ ๖ งวด เป็นเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์นำสืบด้วยว่าหากโจทก์นำรถที่เช่าซื้อออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เป็นการนำสืบให้เห็นถึงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินของโจทก์อีกทางหนึ่ง จึงหาเป็นการนำสืบนอกคำฟ้องไม่ แต่การกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค ๔ โดยถือเกณฑ์ที่โจทก์นำสืบว่า การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนเป็นเวลา ๘ เดือน โจทก์ย่อมขาดประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากการนำรถที่เช่าซื้อออกให้เช่าเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท นั้นไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์เรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ๖ งวด ปัญหาว่าค่าเสียหายของโจทก์ควรจะเป็นเท่าใด ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ครอบครองรถที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๑ ถึงที่ ๓ และงวดที่ ๕ ถึงที่ ๗ เป็นเงิน ๙๐๐,๐๐๐ บาท แม้จำเลยที่ ๑ จะชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว ๓๗๕,๐๐๐ บาท และโจทก์นำรถที่เช่าซื้อไปให้บุคคลภายนอกเช่าซื้อในราคาต่ำกว่าที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อ ๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายที่เพิ่งได้รับค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อรายใหม่หลังจากได้รับรถที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ ๑ ประกอบกับนายอภิสรผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ยืนยันว่าโจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรถที่เช่าซื้อประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินของโจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔.