คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2683/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเพียงเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อโจทก์ได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยจากนางส. ซึ่งซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตโจทก์ย่อมได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1330

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสมคิดได้ซื้อที่ดินซึ่งมี น.ส.3 เลขที่ 347แปลงพิพาทกับแปลงอื่นอีกรวม 6 แปลง เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่3 งาน 42 ตารางวา จากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดน่าน ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินจำนวน 6 แปลง ดังกล่าวจากนางสมคิดโดยจดทะเบียนซื้อขายตามกฎหมาย ในวันที่ 28 มกราคม 2528ซึ่งอยู่ระหว่างการบังคับคดีนั้น จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือขออนุญาตต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาน่านเพื่อเข้าทำกินในที่ดินพิพาท ทางธนาคารได้อนุญาตให้จำเลยทำกินในที่ดินพิพาทตามขอ ต่อมาโจทก์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาน่าน ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โดยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะอ้างได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยทำหนังสือขออนุญาตธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาน่าน เพื่อเข้าทำกินในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองไม่เคยบุกรุกรบกวนการครอบครองที่ดินโจทก์ จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทมานานจนถึงปัจจุบันจึงมีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ครอบครองเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.6 ที่นางสมคิดได้ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลชั้นต้น สำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 81/2522 ได้จดทะเบียนโอนวันที่ 25 กันยายน 2533แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวข้างต้นจากนางสมคิดโดยจดทะเบียนโอนวันที่ 6 พฤศจิกายน 2533 เมื่อโจทก์ซื้อมาแล้วจะเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองไม่ยอมอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.6 ได้หรือไม่และโจทก์เสียหายเพียงใดนั้นเกี่ยวกับปัญหาข้อแรกจำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่า ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 แล้วในปี 2517 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอออกใบจองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ในปี 2518 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย ล.5 ล.6ส่วนจำเลยที่ 2 นางบัวเรียง ตนะทิพย์ ภริยา ได้ยื่นขอออกหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินในปี 2530 ดังปรากฏตามหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แม้จำเลยทั้งสองอ้างว่ามีหลักฐานดังกล่าวมาแสดงก็ตาม แต่จากการที่จำเลยทั้งสองยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)และเดิมเป็นของนายล้วน มหานิล ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเมื่อพิจารณารูปที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.1ที่จำเลยทั้งสองอ้าง ปรากฏว่าไม่ตรงกับรูปที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.6 โดยเฉพาะรูปที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย ล.6 ของจำเลยที่ 1ทางด้านทิศตะวันออกระบุว่า จดน้ำพร้าว ไม่ได้จดลำห้วยดังเช่นรูปที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.6 ของโจทก์ทั้งจำเลยทั้งสองไม่นำเจ้าพนักงานที่ดินผู้เกี่ยวข้องกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินมาเบิกความยืนยันว่าหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือแสดงสิทธิของที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ในการนำยึดและการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของศาลชั้นต้นนั้น ก็ได้ความจากพยานโจทก์คือนายจีระศักดิ์ สุขหรุ่น ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นมาเป็นพยานเบิกความว่า มีการนำประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เอกสารหมาย จ.6 ไปปิดไว้ที่บ้านจำเลยทั้งสอง ที่ว่าการอำเภอและที่หน้าศาลชั้นต้นแล้ว นายเกียรติ ถาวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านพยานจำเลยตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ก่อนจะมีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของศาลชั้นต้นพยานก็ทราบนั้น จึงเป็นการยืนยันให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองก็น่าจะทราบดีเช่นกันซึ่งจำเลยทั้งสองก็ควรที่จะไปร้องขัดทรัพย์ต่อศาลชั้นต้น และแสดงหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.6 กับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ของจำเลยทั้งสอง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่จำเลยทั้งสองก็เพิกเฉยอันเป็นการทำให้จำเลยทั้งสองหมดสิทธิที่จะแสดงการเป็นเจ้าของอีก นอกจากนี้จำเลยทั้งสองรับว่าจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในหนังสือขออนุญาตเข้าทำกินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.6 ต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเพราะอ่านหนังสือไม่ออกซึ่งแสดงว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์ข้อความมาแล้ว แต่เมื่อตอบคำถามค้านทนายโจทก์กลับว่า เป็นกระดาษเปล่าจึงขัดกันเอง ทั้งเป็นการนำสืบลอย ๆต่างกับโจทก์ซึ่งมีทั้งนายเลอศักดิ์ ชูประภาพร ผู้ทำหนังสือและนายอุปถัมภ์ ไชยมงคล ผู้เป็นพยานในหนังสือดังกล่าวโดยบุคคลทั้งสองไม่มีส่วนได้เสียและไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนประกอบเอกสารแล้วและถ้ายิ่งได้พิจารณาข้อความที่พิมพ์ลงในหนังสือดังกล่าวที่นายเลอศักดิ์เบิกความยืนยันว่า ก่อนให้จำเลยทั้งสองลงชื่อพยานได้อ่านข้อความให้จำเลยทั้งสองฟังแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าข้อความที่พิมพ์ตั้งแต่หัวกระดาษตัวอักษรที่พิมพ์ การเว้นช่องว่างระหว่างบรรทัดเป็นระเบียบเรียบร้อยจนถึงบรรทัดสุดท้ายก่อนให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อ พิมพ์ได้พอดีไม่มีพิรุธซึ่งถ้าเป็นการให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าย่อมเป็นการยากที่จะพิมพ์ขึ้นทีหลังดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง และถ้าจำเลยที่ 1มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งออกเมื่อปี 2518 อันเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทดังจำเลยที่ 1 อ้าง จำเลยที่ 1 ก็ต้องโต้แย้งแสดงหลักฐานดังกล่าวให้ทางธนาคารทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยกระทำการดังกล่าวให้ทางธนาคารทราบเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเพียงเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.6 เมื่อโจทก์ได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยจากนางสมคิดซึ่งซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้นที่เจ้าของที่ดินดังกล่าวคือนายล้วนเป็นลูกหนี้และถูกบังคับคดีมาโดยสุจริต โจทก์ย่อมได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทได้ สำหรับปัญหาฎีกาโจทก์ที่ว่าโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายโจทก์เดือนละ 3,000 บาท นั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสองขออนุญาตเข้าทำกินในที่ดินพิพาทแล้วไม่ยอมออกทำให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้นั้น ย่อมทำให้โจทก์เสียหายจริง จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ1,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปทั้งสามศาล

Share